söndag 12 januari 2014

ความเป็นมาของกบฎ "เทพ + เทือก" .ก่อนมาถึง..."ชัตดาวน์กรุงเทพฯ"....



[​IMG]


[​IMG]


เอ้าแล้ว สุเทพ จะปฎิเสธได้อย่างไร...ว่าไม่จริง  จะเอาสถาบันกษัตย์ไปไว้ที่ไหน?

[​IMG]



"เดลินิวส์ออนไลน์" ประมวลเหตุการณ์การชุมนุมของ กปปส. ตั้งแต่เริ่มจนถึงการประกาศชุมนุม

"ชัตดาวน์กรุงเทพฯ"

วันอาทิตย์ 12 มกราคม 2557 เวลา 11:13 น.

ก่อนที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ซึ่งนำโดย "นายสุเทพ เทือกสุบรรณ" จะชัตดาวน์กรุงเทพฯ ในวันพรุ่งนี้ (13 ม.ค.) ตามที่ได้ประกาศเอาไว้ "เดลินิวส์ออนไลน์" ประมวลเหตุการณ์สำคัญของการชุมนุม ให้ทราบว่า ที่ผ่านมา ม็อบกำนันสุเทพ "ยกระดับ" และ "ประกาศชัยชนะ" มาแล้วกี่ครั้ง?!

มาเริ่มจากการประกาศยกระดับ วันที่ 31 ต.ค. 2556 เป็นการเริ่มต้นชุมนุมยืดเยื้ออย่างเป็นทางการ โดยนายสุเทพสั่งเป่านกหวีด เรียกมวลชนแต่งดำพร้อมกันที่สถานีรถไฟสามเสน เป้าหมายเพื่อค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

4 พ.ย. 2556 ปักหลักชุมนุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน

นายสุเทพขึ้นเวทีปราศรัย นำมวลชนไปคารวะดวงวิญญาณผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 10 เม.ย. 2553 พร้อมกับประกาศการตัดสินใจตามมติของผู้ร่วมชุมนุมว่า ขอยกระดับการชุมนุม โดยปิดถนนราชดำเนิน และจะไม่กลับไปชุมนุมที่ริมสถานีรถไฟสามเสน จากนี้จะใช้พื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินเป็นที่ตั้งการชุมนุม และหากรัฐบาลไม่ฟังเสียงของประชาชนจะยกระดับการชุมนุมขึ้นอีกจนกว่าจะชนะ

11 พ.ย. 2556 ส.ส.ปชป.ทั้ง 9 ทิ้งเก้าอี้ ยกระดับชุมนุม ชวนหยุดงานทั้งประเทศร่วมม็อบ

นายสุเทพ ประกาศยืนยันว่า ได้ลาออกจากการเป็นสภาผู้แทนสมาชิกราษฎร พร้อมกับ ส.ส.ปชป.อีก 8 ราย ประกอบด้วยนายถาวร เสนเนียม, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย, นายอิสระ สมชัย, นายวิทยา แก้วภราดัย, นายชุมพล จุลใส, นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ โดยในวัน 12 พ.ย. ทั้งหมดเดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อลาออก

นอกจากนี้นายสุเทพได้ประกาศปักหลักชุมนุมที่ราชดำเนินต่อไป พร้อมยังเชิญชวนประชาชนทั้งประเทศหยุดงาน หยุดเรียน ระหว่างวันที่ 13-15 พ.ย. 2556 เพื่อมาร่วมชุมนุม และยังประกาศ 4 มาตรการขับไล่รัฐบาล ประกอบด้วย 1.หยุดงาน 2.ไม่จ่ายภาษี 3.ติดธงชาติที่บ้านและที่รถ และ 4.หากเจอตัวรัฐมนตรีให้เป่านกหวีดใส่

15 พ.ย. 2556 ประกาศ 4 มาตรการอารยะขัดขืนขั้นสูงสุด ยกระดับไล่ระบอบทักษิณ

นายสุเทพ ประกาศยกระดับการต่อสู้เป็นการขจัดระบอบทักษิณ แบบถอนรากถอนโคนให้หมดไปจากสังคมไทย พร้อมประกาศมาตรการขจัดระบอบทักษิณ 1.ร่วมกันจัดการกับส.ส.ทาส ทั้ง 310 คนนั้น และสภาทาส ด้วยการลงชื่อถอดถอน แล้วยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ถ้าชี้มูลวันใด ส.ส.เหล่านั้นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที 2.มุ่งจัดการสมุนทักษิณ เป็นการเฉพาะ ด้วยการแสดงพฤติกรรมรังเกียจ ไม่สังฆกรรมด้วย พบที่ไหนเป่านกหวีดใส่อย่างเดียว และ 3.ร่วมแรงรวมใจกันต่อต้านสินค้าเครือทักษิณ ส่วนมาตรการขั้นสูงสุด คือ ขอให้ข้าราชการทั่วประเทศหยุดงานและออกมาร่วมชุมนุม

24 พ.ย. 2556 มวลชนร่วมชุมนุมใหญ่ที่ราชดำเนิน แกนนำบอกเกินล้าน

หลังจากนายสุเทพ ประกาศนัดชุมนุมใหญ่มาให้เกินล้านคน ปรากฏว่า ในวันที่ 24 พ.ย. ตามที่นัดหมาย มีประชาชนเดินทางเข้าพื้นที่ชุมนุมราชดำเนินจนเต็มพื้นที่ โดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษกกลุ่มชุมนุม ระบุว่า ได้มีการแจกสติ๊กเกอร์ "วันมวลมหาประชาชนราชดำเนิน 24 พ.ย.56" ที่จัดทำขึ้น 1 ล้านชิ้นให้กับประชาชนที่มาร่วมชุมนุมคนละ 1 ชิ้น ต่อมา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำกปปส. ขึ้นเวทียืนยันว่า จากการนับสติ๊กเกอร์ที่แจกให้ผู้ชุมนุมพบว่า ยอดผู้ชุมนุมเกิน 1 ล้านคนแล้ว

25 พ.ย. 56 เดินอารยะขัดขืน 13 เส้นทาง ยึดสำนักงบประมาณ ก.คลัง

นายสุเทพ นำผู้ชุมนุมเดินขบวนอารยะขัดขืน 13 เส้นทางสู่เป้าหมาย ประกอบด้วย 1.กองบัญชาการทหารสูงสุด ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ, 2.กองบัญชาการกองทัพอากาศ ดอนเมือง, 3.กองทัพบก, 4.กองบัญชาการกองทัพเรือ, 5.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, 6.กองบัญชาการตำรวจนครบาล,7.สถานีโทรทัศน์ช่อง 3, 8.สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, 9.สถานีโทรทัศน์ช่อง 7, 10.สถานีโทรทัศน์ช่อง 9, 11.สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์, 12.กระทรวงมหาดไทย, และ 13.สำนักงบประมาณ ทั้งนี้ ในวันดังกล่าว นายสุเทพ ได้นำผู้ชุมนุมเข้ายึดพื้นที่สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และตั้งเป็นเวทีชุมนุมอีกแห่ง

27 พ.ย. 2556 เดินเท้ายึดพื้นที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ

นายสุเทพ นำมวลชนเดินเท้าจากกระทรวงการคลัง เมื่อไปถึง นายสุเทพขึ้นปราศรัยว่า มวลชนไม่ได้ตั้งใจเข้าอาคารบี ศูนย์ราชการ แต่มีคนเชิญให้เข้า วันนี้จะพักที่อาคารบี ก่อนย้ายไปอาคารอื่นๆ ไม่ปิดกั้นข้าราชการทำงาน พร้อมประกาศให้ตำรวจออกจากพื้นที่ และในวันที่ 28 พ.ย. 2556 ได้ประกาศปักหลักชุมนุมตั้งเวทีปราศรัย 3 จุด คือ 1.อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 2.กระทรวงการคลัง และ3.ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวใน 30 จังหวัด รวมถึงขยายกลุ่มไปยังนักวิชาการ นักศึกศึกษา และสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ที่ตอบรับและเห็นด้วยที่ต้องปฏิรูปการเมืองไทย

29 พ.ย. 2556 ม็อบนกหวีด เปลี่ยนชื่อใหม่ กปปส.

นายสุเทพ ประกาศยกระดับ โดยการใช้ชื่อ "คณะกรรมการประชาชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ตัวย่อ กปปส. เนื่องจากได้รวมตัวกับแกนนำกลุ่มพันธมิตร นักวิชาการ กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)

9 ธ.ค. 2556 เคลื่อน 9 ขบวนล้อมทำเนียบ

แกนนำกปปส. แบ่งผู้ชุมนุมเป็น 9 กลุ่ม เพื่อเดินไปทำเนียบรัฐบาล ได้แก่ 1.ศูนย์ราชการ-เดินทางถนนวิภาวดีรังสิต (นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) 2.อาคารไทยพาณิชย์ปาร์คพลาซ่า รัชโยธิน (นำโดย นายถาวร เสนเนียม) 3.เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ เอกมัย ถนนสุขุมวิท-ผ่านราชประสงค์ (นำโดย นายพุทธิพงษ์ ปุณกัณต์) 4.วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี (นำโดย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) 5.กระทรวงการคลัง (นำโดย นายวิทยา แก้วภราดัย) 6.อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (1) (นำโดย นายถนอม อ่อนเกตุพล) 7.ถนนสีลม-ราชดำริ (นำโดย นายสาธิต เซกัล) 8.อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (2)-ไปทางถนนประชาธิปไตย (นำโดย นายอิสสระ สมชัย) และ 9.หน้าพรรคเพื่อไทย (นำโดย นางศรีวรา อิสสระ)

22 ธ.ค. 2556 กปปส. ตั้งเวทีใหญ่ 5 จุดกลางกรุง พร้อมเวทีย่อยอีก 10 จุด

แกนนำกปปส. จัดชุมนุมแสดงพลัง 5 เวทีใจกลางกรุงเทพฯ โดยนายสุเทพ เดินสายขึ้นปราศรัยทุกเวทีหลัก ซึ่งประกอบด้วย 1.เวทีแยกอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 2.เวทีหน้าหอศิลป์กทม. แยกปทุมวัน 3.เวทีแยกราชประสงค์ 4. เวทีสวนลุมพินี และ 5.เวทีแยกอโศก สุขุมวิท โดยแต่ละจุดจะมีการถ่ายทอดภาพบรรยากาศจากเวทีราชดำเนิน ขณะที่เวทีย่อยอีก 10 จุด (ครอบคลุม 6 ถนนสายหลัก ถนนพญาไท ถนนเพชรบุรี ถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4 และ ถนนสุขุมวิท) ประกอบด้วย แยกอุรุพงษ์ แยกราชเทวี ประตูน้ำ แยกราชปรารภ แยกเจริญผล แยกหัวลำโพง แยกบางรัก แยกคลองเตย แยกเพลินจิต และแยกทองหล่อ มีการถ่ายทอดบรรยากาศเช่นเดียวกัน โดยไม่มีการปักหลักยืดเยื้อข้ามวัน

1 ม.ค. 2557 ประกาศยกระดับชัตดาวน์กทม. เดินเรียกแขก 5,7,9 ม.ค.

นายสุเทพ ประกาศแนวทางการขับเคลื่อนขับไล่รัฐบาลออกจากตำแหน่งรักษาการ เพื่อเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยก่อนเลือกตั้งว่า จะเดินขบวนในวันที่ 5, 7, 9 มกราคม เพื่อเชิญชวนประชาชนทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี ให้ออกมาร่วมชุมนุมใหญ่ ปิดกรุงเทพฯ ในวันที่ 13 มกราคม ซึ่งเป็นการแสดงอารยะขัดขืนขั้นสำคัญ จะตัดน้ำ-ตัดไฟ สถานที่ราชการ ทุกแห่ง รวมทั้งบ้านนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี แต่ไม่มีการตัดน้ำ-ตัดไฟ บ้านเรือนของประชาชนทั่วไป อีกทั้งรถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน เรือเมล์ ยังเปิดบริการปกติ ถนนทุกสายยังคงเว้นช่องทางเดินรถเมล์ เผื่อไว้สำหรับรถพยาบาลหรือคนที่จะไปโรงพยาบาล

ส่วนการประกาศชัยชนะที่ปรากฏตามการรายงานข่าว มีทั้งในวันที่ 27 พ.ย. 2556 นายสุเทพ ขึ้นประกาศชัยชนะบนเวทีปราศรัย หลังการนำมวลชนบุกเข้ายึดพื้นที่สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ได้สำเร็จ ต่อมาในวันที่ 1 ธ.ค. 2556 นายสุเทพ อ่านแถลงการณ์กปปส.ประกาศชัยชนะหลังการชุมนุมผ่านไป 32 วัน ประชาชนสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศ ยึดสถานที่ราชการ 12 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ บริษัท กสท. ทีโอที กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงการต่างประเทศ

3 ธ.ค.2556 นายสุเทพ ขึ้นปราศรัยว่า ประชาชนสามารถยึดกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และทำเนียบรัฐบาล หลังมีเหตุการณ์ปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุม ตั้งแต่วันที่ 1ธ.ค. โดยประกาศว่า เป็นชัยชนะเพียงส่วนหนึ่งแต่ไม่เด็ดขาด ต่อด้วย 9 ธ.ค. 2556 เป็นวันที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา ทว่านายสุเทพ พร้อมแกนนำกปปส.ก็ยังขึ้นอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลาออกจากรักษาการ และประกาศชัยชนะบนเวทีนางเลิ้ง หลังนำมวลชนเดินขบวนจากศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะมาถึงแยกนางเลิ้ง และเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2556 นายสุเทพได้ประกาศชัยชนะบนเวทีหกล้อ หน้าศูนย์กีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง โดยระบุว่า ประชาชนได้บรรลุเป้าหมายในการขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งแล้ว

ดังนั้น จากการรายงานข่าวการชุมนุมที่นำโดยนายสุเทพ จึงสามารถนับรวมการยกระดับได้ 11 ครั้ง ขณะที่การประกาศขัยชนะมีขึ้น 5 ครั้ง

แต่สิ่งที่น่าจับตาหลังจากนี้ คือ การนัดชุมนุมใหญ่ ชัตดาวน์กรุงเทพฯ 13 ม.ค. 2557 เบื้องต้น มีการประกาศแล้วว่า จะเริ่มปฏิบัติการณ์ในเวลา 09.00 น. โดยจะยกเลิกเวทีราชดำเนิน แต่จะกระจายเวทีไปยังจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ 7 เวที ดังนี้ 1.ถนนแจ้งวัฒนะ จะมีกปปส. จังหวัดนนทบุรี , ราชบุรี และนครปฐม ปิดถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อไม่ให้ศูนย์ราชการทำงานได้ และมีนายราเชน ตระกูลเวียง กับหลวงปู่พุทธอิสระประจำอยู่ 2.บริเวณห้าแยกลาดพร้าว มีนายอิสสระ สมชัย และนายนายพงศา ชูแนม รับผิดชอบ พร้อมทั้งผู้ชุมนุมจากภาคอีสาน 3.บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีนายถาวร เสนเนียม เป็นผู้บริหารจัดการ 4.สี่แยกปทุมวัน มีนายสาทิตย์ วงษ์หนองเตย และคณะจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดูแลรับผิดชอบ โดยจะใช้เวทีนี้เป็นเวทีหลักในการถ่ายทอดสดตลอด 24 ชั่วโมง 5. เวทีลุมพินี จะมีนายวิทยา แก้วภราดัย รับผิดชอบเวทีร่วมกับชาวสีลม 6.เวทีราชประสงค์ มีนายชุมพล จุลไสย และ ดร.เสรี วงษ์มณฑา ส่วนเวทีที่ 7.บริเวณแยกอโศก จะมีนายสกลธี ภัททิยกุล ร่วมกับชาวอโศก ชาวจังหวัดชลบุรี ,ระยอง , จันทบุรี และตราด รับผิดชอบ

ไม่ว่าบรรยากาศการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ในวันที่ 13 ม.ค. จะเป็นเช่นไร สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นคือ ความรุนแรง และบ้านเมืองกลับไปสงบสุขดังเดิม.

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar