onsdag 3 februari 2016

“ประชาธิปไตย”  เบื้องต้นสำหรับสามัญชน
โดย ปรีดี พนมยงค์
 -๑-
ความหมายของคำว่า  “ประชาธิปไตย”
            คำว่า  “ประชาธิปไตย”  ประกอบด้วยคำว่า  “ประชา”  หมายถึงหมู่คนคือปวงชน  กับคำว่า  ”อธิปไตย”  หมายถึงความเป็นใหญ่
            คำว่า  “ประชาธิปไตย”  จึงหมายถึง  “ความเป็นใหญ่ของปวงชน”
            ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า  “ประชาธิปไตย”  ไว้ในหนังสือพจนานุกรมของทางราชการว่า  “แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่”
            ทั้งนี้พึงเข้าใจว่าการที่ปวงชนจะมีความเป็นใหญ่ในการแสดงมิติได้ก็จำเป็นที่ชนทุกคนรวมกันเป็นปวงชนนั้นต้องมี    “สิทธิและหน้าที่ของมนุษยชน”  อันเป็นสิทธิและหน้าที่ตามธรรมชาติของทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์  คือ  สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคซึ่งมนุษย์จะต้องใช้พร้อมกันกับหน้าที่  มิให้เกิดความเสียหายแก่เพื่อมนุษย์อื่นและหมู่คนอื่นหรือปวงชนเป็นส่วนรวม  ถ้าชนส่วนมากซึ่งเป็น  “สามัญชน”  ถูกตัดสิทธิมนุษยชนโดยให้มีหน้าที่แต่อย่างเดียว  สามัญชนก็มีลักษณะเป็นทาส  หรือข้าไพร่ของชนส่วนน้อยซึ่งมีสิทธิใหญ่ยิ่งหรือ  “อภิสิทธิ์ชน” แบบการปกครองจึงไม่ใช่ประชาธิปไตย  ถ้าสามัญชนมีสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว  โดยไม่มีหน้าที่  มนุษยชนแบบการปกครองก็เกินขอบเขตของประชาธิปไตย

-๒-

ความหมายของคำว่า  “รัฐธรรมนูญ”
            คำว่า “รัฐธรรมนูญ”  ประกอบด้วยคำว่า  “รัฐ”  หมายถึงบ้านเมืองหรือแผ่นดินกับคำว่า  “ธรรมนูญ” หมายถึงกฎหมายว่าด้วยระเบียบการ
            รัฐธรรมนูญ  จึงหมายถึงกฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองแผ่นดินหรือรัฐ 
บางครั้งเรียกกฎหมายชนิดนี้ว่า  “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” หรือ  “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร”  บางประเทศเรียกว่า  “ธรรมนูญ”  ตามภาษาของเขาซึ่งแปลเป็นไทยว่า  “กฎบัตร”  และ “กฎหมายวางระเบียบปกครองรัฐ”
มีผู้เข้าใจผิดว่าประเทศใดมีรัฐธรรมนูญ  ประเทศนั้นก็มีการปกครองแบบประชาธิปไตย  อันที่จริงนั้นรัฐธรรมนูญเป็นเพียงระเบียบการที่เขียนเป็นกฎหมายว่าประเทศ  (รัฐ) นั้น ๆ  ปกครองกันแบบใด  แทนที่จะปล่อยให้ผู้มีอำนาจปกครองกระทำตามความพอใจของตนโดยไม่มีข้อกำหนดไว้     รัฐธรรมนูญแต่ลำพังยังไม่เป็นแบบการปกครองประชาธิปไตยเสมอไป  อาทิ  บางประเทศปกครองตามแบบเผด็จการก็มีรัฐธรรมนูญเผด็จการของตน  เช่น ประเทศอิตาลีสมัยมุสโสลินีที่เป็นจอมเผด็จการก็มีรัฐธรรมนูญ  ประเทศสเปนและโปรตุเกสปัจจุบันที่ปกครองแบบเผด็จการก็มีกฎหมายซึ่งมีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดระเบียบการปกครองประเทศทั้งสองนั้นตามแบบเผด็จการ  รัฐบาลถนอมประภาสปกครองตามแบบเผด็จการก็มีรัฐธรรมนูญที่เรียกว่า  “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร” 
            ฉะนั้นต้องพิจารณารายละเอียดในตัวบทของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ  ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใดให้ถือมติปวงชนเป็นใหญ่และให้สิทธิของมนุษยชนแก่ประชาชน  รัฐธรรมนูญนั้นก็เป็นประชาธิปไตย  ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใดถือตามความเห็นชอบของอภิสิทธิ์ชนและจำกัดสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนพึงมีได้  รัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย

-๓-

ความเป็นมาของ  “สิทธิและหน้าที่มนุษยชน”และ  อภิสิทธิ์ชนกับมวลชน
(๑)    ในยุคดึกดำบรรพ์ตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์ขึ้นในโลกนั้น  มนุษย์รวมกันอยู่เป็นหมู่คน  ซึ่งมีหัวหน้าปกครองอย่างแม่พ่อปกครองลูก  ไม่มีการกดขี่เบียดเบียนระหว่างกัน เช่นพ่อแม่ปกครองลูกนั้น  พ่อแม่มิได้เบียดเบียนลูก  ชนในหมู่คนนั้นมีเสรีภาพเสมอภาคกันและมีสำนึกในหน้าที่ว่าหมู่คนของตนจะดำรงอยู่ได้นั้นแต่ละคนจะต้องใช้เสรีภาพมิให้เป็นที่เสียหายแก่คนอื่นและแก่หมู่คน  สิทธิและหน้าที่มนุษยชนจึงเป็นไปตามธรรมชาติประจำอยู่กับมนุษย์ตั้งแต่มีมนุษย์ขึ้นในโลก  ปวงชนของหมู่คนนั้นจึงมีแต่สามัญชนจำพวกเดียว แบบการปกครองเป็นไปอย่างประชาธิปไตยสมบูรณ์
            หมู่คนชนิดนี้ยังมีซากตกค้างอยู่บ้างในสมัยพุทธกาล  เช่นสักกะชนบท และในสมัยรัชกาลที่  ๕  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ไปตรวจราชการภาคอีสานก็ได้ทรงพบว่ามีชนบทหนึ่งซึ่งมีซากหมู่คนชนิดนี้แต่ปัจจุบันหมดไปแล้ว
(๒)      กาลต่อมาได้มีการปกครองแบบทาสขึ้น  คือชนส่วนน้อยจำนวนหนึ่งในหมู่คนใช้อำนาจถือเอาแผ่นดินเป็นที่ตั้งหมู่คนนั้นเป็นของตน  และถือว่าชนส่วนมากเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งของตน  ซึ่งตนมีอำนาจเฆี่ยนตีเข่นฆ่าได้เหมือนสัตว์พาหนะ  ชนจำนวนน้อยนั้นจึงเป็นเจ้านายยิ่งใหญ่ เป็น  “อภิสิทธิ์ชน”  ซึ่งมีอำนาจและสิทธิเด็ดขาดเหนือชนส่วนมากที่เป็น  “สามัญชน”  ๆ  ถูกตัดสิทธิมนุษยชนโดยมีแต่หน้าที่จำต้องทำงานอย่างสัตว์พาหนะให้แก่  “อภิสิทธิ์ชน”  สามัญชนจึงมีสภาพตามที่ภาษาไทยเดิมเรียกว่า  “ข้า”  ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า  “ทาสา”  ซึ่งแผลงเป็นภาษาไทยว่า  “ทาส”
            ตามธรรมชาติของมนุษย์นั้นต้องการเสรีภาพและความเสมอภาคอันเป็นสิทธิของมนุษยชน  แม้  “อภิสิทธิ์ชน”  มีอำนาจเฆี่ยนตีเข่นฆ่า  แต่มนุษย์ก็ต้องการหลุดพ้นจากการถูกกดขี่บีบคั้น  เราย่อมเห็นได้ว่าสัตว์เดรัจฉานที่คนจับมาใช้งานก็พยายามดิ้นรนที่จะเป็นอิสระ  อภิสิทธิ์ชนจึงคิดวิธีเพิ่มเติมประกอบอำนาจของตนขึ้นมาอีกวิธีหนึ่ง  คือทำให้  “ข้า”  หรือ  “ทาส”  หลงเชื่อว่าเจ้าใหญ่นายโตที่มีอำนาจยิ่งใหญ่นั้นได้ก็เพราะเป็นคนมีบุญผู้ที่พระเจ้าบนสวรรค์ได้ส่งเทวดาให้มาจุติเกิดเป็นมนุษย์เพื่อปกครองปวงชน
(๓) ครั้นต่อ ๆ มาได้มีการปกครองแบบศักดินาขึ้น  คืออภิสิทธิ์ชนได้ปรับปรุงแบบการปกครองทาสให้ทำงานเพื่อประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนได้ผลยิ่งขึ้นตามเครื่องมือหัตถกรรมที่พัฒนาขึ้นและตามการบุกเบิกและหักร้างถางพงในแผ่นดินกว้างใหญ่ให้เป็นที่นากว้างขวางขึ้น  จึงจำต้องให้  “ข้า” หรือ  “ทาส”  ออกไปอยู่ห่างไกลจากเคหสถานของ  “อภิสิทธิ์ชน”  ผู้เป็นเจ้าของ  อภิสิทธิ์ชนจึงต้องมีบริวารช่วยควบคุมข้าทาสและตั้งให้บริวารเหล่านี้มีฐานันดรศักดิ์อันดับต่าง ๆ ซึ่งแต่ละคนมี  “ศักดิ์”  คิดตามเนื้อหาที่นา  ฐานันดรศักดิ์นี้จึงเรียกว่า  “ศักดินา”
ส่วนสามัญชนซึ่งเป็นคนจำนวนมากนั้นในสาระคงมีสภาพเป็น  “ข้า”  แต่มีคำใหม่เรียกว่า  “ไพร่”  โดยที่สามัญชนเข้าใจสาระของไพร่ว่าเป็น  “ข้า”  ชนิดหนึ่ง  ฉะนั้นจึงเรียกสามัญชนในสมัยศักดินาว่า  “ข้าไพร่”  ซึ่งมีความเป็นอิสระดีกว่าทาสบ้าง  แต่ทาสก็ยังไม่หมดสิ้นไปในสมัยศักดินา   ความหลงเชื่อว่าอภิสิทธิ์ชนเป็นเทวดาที่มาจุติในโลกมนุษย์ก็ยังคงฝังอยู่ในจิตใจของสามัญชน

(๔) ต่อมาในประเทศยุโรปได้มีผู้คิดทำเครื่องจักรกลใช้กำลังไอน้ำได้สำเร็จ  จึงได้มีนายทุนเจ้าของโรงงานสมัยใหม่ที่ใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ผลิตสิ่งของและพาหนะการขนส่ง  ฯลฯ  แทนแรงคนและแรงสัตว์พาหนะ  นายทุนเจ้าของโรงงานจำเป็นต้องใช้ลูกจ้างที่มีความรู้ความสามารถใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่  ในการนั้นจำเป็นต้องให้คนงานมีเสรีภาพจึงจะมีกำลังใจใช้เครื่องมือสมัยใหม่ให้ได้ผลอย่างยุโรปตะวันตกโดยมีรัฐธรรมนูญเขียนเป็นกฎหมายให้สามัญชนหมดสภาพเป็น  ”ข้าไพร่”  และให้มีสิทธิมนุษยชนเสมอภาคกับนายทุน  แต่ในทางปฏิบัตินั้นนายทุนได้เปรียบเพราะอาศัยทุนใช้จ่ายเพื่อใช้สิทธิมนุษยชนของตนได้มากกว่าสามัญชน
นายทุนยุโรปส่วนที่สะสมทุนไว้ได้มหาศาลจึงเป็นนายทุนยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งเรียกว่า  “จักรวรรดินิยม”  นั้นได้แผ่อำนาจไปยังอเมริกา  ญี่ปุ่น  แล้วก่อให้เกิดนายทุนจักรวรรดินิยมอเมริกันและญี่ปุ่นขึ้น  พวกนายทุนมหาศาลเหล่านี้ได้แผ่อำนาจเข้ามาในประเทศด้วยพัฒนาซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย รัชกาลที่  ๕  ได้ทรงประกาศยกเลิกการปกครองทาส  แต่การปกครองแบบศักดินายังมีอยู่  ชนชาวไทยปัจจุบันจึงมีฐานะและวิธีครองชีพต่าง ๆ กันมากมายหลายชนชั้นวรรณะตามวิธีศักดินาและวิธีนายทุนสมัยใหม่  เราเห็นได้แก่นัยน์ตาของเขาเองว่า  ภายในปวงชนปัจจุบันนี้มีคนไร้สมบัติต้องเป็นลูกจ้างของนายทุน  ชาวนา ชาวประมง  ชาวสวน  ชาวไร่  ช่างฝีมือ  ผู้ทำมาหากินโดยแรงงานของตนเอง  บุคคลส่วนมากดังกล่าวแล้วอัตคัดขัดสน  ส่วนน้อยมีรายได้พอทำพอกิน  มีชนผู้มีทุนน้อยรายได้พอทำพอกิน  มีคนชั้นกลางรายได้ปานกลางพอมีเหลือเก็บสะสมได้  มีนายทุนรายได้ค่อนข้างมาก มีนายทุนใหญ่มหาศาลรายได้มากมายล้นเหลือเนื่องจากอาศัยทุนมหาศาลสมัยใหม่และรับช่วงทุนมหาศาลศักดินา
เราอาจจัดชนจำพวกปลีกย่อยต่าง ๆ ภายในปวงชนไทยตามจำนวนส่วนข้างน้อย และส่วนข้างมากเป็น  ๒ ประเภทใหญ่ ๆ
    ก.”อภิสิทธิ์ชน”  คือชนจำนวนส่วนข้างน้อยที่สุดของปวงชนได้แก่  นายทุนยิ่งใหญ่มหาศาล  เนื่องจากสะสมทุนสมัยใหม่และรับช่วงสมบัติศักดินา  มีฐานะดีที่สุดยิ่งกว่าคนจำนวนมากในชาติ  อภิสิทธิ์ชนหมายความรวมถึงสมุนที่ต้องการรักษาอำนาจและสิทธิของอภิสิทธิ์ชนไว้
   ข.”สามัญชน”  คือชนจำนวนส่วนมากที่สุดของปวงชน  ประกอบด้วยชนทุกฐานะและอาชีพที่ไม่ใช่ประเภทอภิสิทธิ์ชน

-๔-
หลักสำคัญในการพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดเป็นประชาธิปไตยหรือไม่
(๑) รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่กำหนดแบบการปกครองขึ้นใหม่  ต่างจากการปกครองแบบเก่าย่อมมีทั้งตัวบทถาวรและตัวบทเฉพาะกาลในระยะหัวต่อระหว่างสองระบบนั้น  ซึ่งเมื่อพ้นระยะเวลาชั่วคราวนั้นแล้วก็เหลือแต่บทถาวรของระบบการปกครองใหม่  แม้รัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้จะไม่มีหมวดมาตราที่ระบุเจาะจงว่าเป็นบทเฉพาะกาล  แต่ในตัวรัฐธรรมนูญนั้นเองก็ต้องมีบทบาทอย่างหนึ่งเขียนไว้ซึ่งมีลักษณะเป็นบทเฉพาะกาลหรือบทชั่วคราวนั้นเอง  รัฐธรรมนูญแบบเผด็จการซึ่งผู้มีอำนาจทำอะไรได้ตามชอบใจตนนั้นจึงเขียนรัฐธรรมนูญตามชอบใจได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความสมควรว่าจะมีบทเฉพาะกาลในระยะหัวต่อระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่ไว้  ฉะนั้นสามัญชนจึงต้องพิจารณารายละเอียดที่เป็นบทถาวรของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่
(๒) รัฐธรรมนูญต่าง ๆ ย่อมมีรายละเอียดมากน้อยต่าง ๆ กัน
วิธีร่างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยถาวรฉบับ  ๑๐  ธันวาคม พ.ศ.  ๒๔๗๕  ซึ่งพระยามโนปกรณ์ประธานอนุกรรมการได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่  ๑๖  พฤศจิกายน พ.ศ.  ๒๔๗๕  ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ  ได้ทรงเห็นชอบด้วยและทรงพอพระทัยมากนั้น  ได้ถือหลักบัญญัติรายละเอียดไว้เท่าที่จำเป็นสำหรับแบบการปกครองประชาธิปไตยเป็นจำนวนเพียง  ๖๘  มาตรา  เพื่อมิให้เป็นที่น่าเบื่อหน่ายแก่สามัญชนที่จะต้องอ่านในเรื่องที่รู้อยู่แล้ว  ประธานอนุกรรมการฯได้ให้ความเห็นไว้ตอนหนึ่งในการอภิปรายเมื่อวันที่  ๒๕  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๔๗๕  ถึงความไม่จำเป็นของรายละเอียดบางประการที่ไม่ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ  เพราะไม่ทำให้ดีขึ้นหรือเลวลง  ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ให้หรู ๆ เพราะไม่เขียนก็รู้อยู่แล้ว 

          จึงขอให้สามัญชนหาโอกาสอื่นรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่  ๒๕  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๔๗๕  เพื่อทราบตัวอย่างของความไม่จำเป็นต้องเขียนฟุ่มเฟือยไว้ในรัฐธรรมนูญ
         นายหงวน  ทองประเสริฐ  กล่าวว่า  ในหมวดสภาผู้แทนราษฎรว่าผู้แทนราษฎรต้องปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่  อยากทราบความประสงค์ของท่านประธานอนุกรรมการว่า  พระมหากษัตริย์ต้องทรงปฏิญาณไหม

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  ตอบว่าผู้ที่เป็นสมาชิกสภานี้ก่อนที่จะเข้ามารับหน้าที่  ต้องปฏิญาณและตามประเพณีราชาภิเศกก็มีการปฏิญาณอยู่แล้ว
นายหงวน  ทองประเสริฐ  กล่าวว่าควรบัญญัติไว้
พระยาราชวังสัน  กล่าวว่าในประเทศเดนมาร์กถึงเป็นรัชทายาทก็ต้องปฏิญาณเหมือนกัน  เพราะในโอกาสบางคราวต้องทำการเป็นผู้แทนพระเจ้าแผ่นดินแต่ความคิดของเรานี้ก็เพื่อวางระเบียบ  ว่าสิ่งใดที่เป็นแบบธรรมเนียมอยู่แล้ว  เราไม่อยากพูดมากนัก  ตามความคิดเดิมในการร่างรัฐธรรมนูญนี้ ประสงค์ไม่ให้ยาวเกินไป  สิ่งใดที่มีและการพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมือนกัน  ฉะนั้นจึงไม่บัญญัติไว้  เพราะความคิดเช่นนั้นเราวางไว้  เห็นว่าไม่เป็นอะไร  ทั้งเห็นความสะดวกกว่าการบัญญัติเช่นนี้จะดีกว่า
            นายหงวน  ทองประเสริฐ  ตอบว่าความจริงเห็นด้วย  แต่ธรรมเนียมนั้นไม่ใช่บทบังคับ  อีกประการหนึ่งสิ่งนี้เป็นคราวแรกไม่เคยใช้มา
            พระยามนธาตุราช  กล่าวว่า  ประเทศอื่น ๆ ที่จะผลัดเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินเขามีในธรรมนูญ
            พระยาราชวังสัน  ตอบว่า  ในรัฐธรรมนูญบางฉบับได้บัญญัติคำไว้ว่าจะปฏิญาณอย่างนั้น  ของเราทราบว่า  พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงปฏิญาณต่อหน้าเทวดาทั้งหลายและพระพุทธรูปเป็นต้น  เราอยากจะเงียบเสีย
            นายหงวน  ทองประเสริฐ  กล่าวว่า  ขอเรียนถามว่าควรจะแก้ไขอย่างไรหรือไม่
            ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  ตอบว่าไม่เห็นจำเป็นเพราะไม่ทำให้ดีขึ้นหรือเลวลง  มีอยู่แล้วจะไปล้างเสียทำไม  ถ้าแม้ว่าความข้อนี้ตัดความหรือเพิ่มสิทธิก็ควรอยู่  การที่บัญญัติไว้เช่นนี้เพื่อเขียนไว้ให้หรู ๆ ถึงไม่เขียนก็รู้อยู่แล้ว
            นายหงวน  ทองประเสริฐ  กล่าวว่า  เพื่อความเข้าใจของราษฎรทั้งหลาย  ให้ลงมติว่าจะสมควรหรือไม่
            หลวงประดิษฐ์มนูธรรม  กล่าวว่า  ข้าพเจ้าขอแถลงให้ที่ประชุมทราบเท่าที่นายหงวน  ทองประเสริฐ  ได้ร้องให้เติมร่างว่าพระมหากษัตริย์ต้องทรงปฏิญาณนั้น  การที่ไม่เขียนไว้ก็ดีก็ให้ถือว่าเวลาขึ้นเสวยราชย์ต้องทรงกระทำตามพระราชประเพณี การที่ไม่เขียนไว้นี้ไม่ใช่เป็นการยกเว้นที่พระองค์จะไม่ต้องทรงปฏิญาณ  ขอให้จดบันทึกข้อความสำคัญนี้ไว้ในรายงาน
            ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  กล่าวว่า  เนื่องจากหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กล่าวแล้ว  ข้าพเจ้าขอแถลงว่าได้เคยเฝ้าและทรงรับสั่งว่าพระองค์เองได้ทรงปฏิญาณเวลาเสวยราชสมบัติและเวลาขึ้นรับเป็นรัชทายาทก็ต้องปฏิญาณชั้นหนึ่งก่อน  ความข้อนี้เมื่อพระองค์เองทรงรับสั่งเช่นนี้  เพราะฉะนั้นรับรองได้อย่างที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมว่าเป็นพระราชประเพณีเดียว
            นายจรูญ  สืบแสง กล่าวว่า  เป็นที่เข้าใจว่า  พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงปฏิญาณตามนี้  แต่นี่เป็นรัฐธรรมนูญสำคัญอย่างยิ่ง  เท่าที่ได้จดบันทึกรายงานยังน้อยไป  ถ้าอย่างไรให้มีไว้ในธรรมนูญจะดียิ่ง
            หลวงประดิษฐ์มนูธรรม  ตอบว่า  สภาผู้แทนราษฎรต้องเห็นชอบในการอัญเชิญพระมหากษัตริย์ขึ้นเสวยราชย์หรือในการสมมติรัชทายาท  ถ้าองค์ใดไม่ปฏิญาณเราคงไม่ลงมติให้
            นายจรูญ  สืบแสง กล่าวว่า  องค์ต่อ ๆ ไปอาจไม่ปฏิญาณ
            พระยาราชวังสัน  ตอบว่า  ตามหลักการในที่ประชุมต่าง ๆ ถ้ามีคำจดในรายงานแล้ว  เขาถือเป็นหลักการเหมือนกัน
            ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  แถลงให้สมาชิกลงมติตามมาตรา  ๙  ว่า  “การสืบราชสมบัติท่านว่าให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎมณเฑียรบาลหรือให้เติมคำว่า  “จะต้องปฏิญาณ”
            ประธานสภาฯ กล่าวว่า  บัดนี้มีความเห็น  ๒  ทาง  คือทางหนึ่งเห็นว่าควรคงตามร่างเดิม  อีกทางหนึ่งว่า  ควรเติมความให้ชัดยิ่งขึ้น
            ที่ประชุมลงมติตามร่างเดิม  ๔๘  คะแนน  ที่เห็นว่าให้เติมความให้ชัดขึ้นมี  ๗  คะแนน  เป็นอันตกลงว่าไม่ต้องเติมความอีก
            วิธีร่างรัฐธรรมนูญฉบับ  ๒๔๘๙  ได้ถือหลักร่างไม่ฟุ่มเฟือยตามวิธีดังที่พระยามโนปกรณ์กล่าวไว้  แต่เพราะเหตุร่างรัฐธรรมนูญฉบับ  ๒๔๘๙  กำหนดให้มีรัฐสภาประกอบด้วยพฤฒสภาและสภาผู้แทนจึงต้องมีบทบัญญัติรวม  ๙๖  มาตรา  มากกว่าฉบับ  ๑๐  ธันวาคม  ๒๔๗๕  เพียง  ๒๘  มาตรา
            รัฐธรรมนูญฉบับ  ๒๔๙๒  มี  ๑๘๘  มาตรา  ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ  ๒๕๑๗  แบบหนึ่ง  ๒๒๔  มาตรา  แบบสอง  ๒๒๕  มาตรา
            สาระสำคัญอยู่ที่รัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้บัญญัติข้อความไว้พอเพียงแก่การให้สิทธิมนุษยชนแก่ปวงชนหรือไม่  และพอเพียงแก่การถือมติปวงชนเป็นใหญ่หรือไม่  ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใดเขียนไว้ฟุ่มเฟือยยืดยาวทำให้สามัญชนเห็นไว้ได้สิทธิมากแต่ในสาระบั่นทอนสิทธิมนุษยชนและมิใช่การถือมติปวงชนเป็นใหญ่อย่างแท้จริง  ความฟุ่มเฟือยยืดยาวก็ไม่อาจช่วยให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาได้


Inga kommentarer:

Skicka en kommentar