torsdag 4 februari 2016

ศาลรธน.....พ่อทุกองค์กร


khaosod



คอลัมน์ ใบตองแห้ง
ศาลรธน.พ่อทุกองค์กร
วันที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 เวลา 20:12 น.

ร่างรัฐธรรมนูญมีชัยทิ้ง "จุดขาย" ที่รัฐธรรมนูญ 2550 เคยใช้ 3 จุดด้วยกันคือ "รับรัฐธรรมนูญเลือกตั้งเร็ว" เพราะยืดโรดแม็ป 6-4 เป็น 8-2-5 "รับไปก่อนแก้ทีหลัง แก้ง่ายนิดเดียว" เพราะรับแล้วแก้ไม่ได้เลย "สิทธิชุมชนอันงดงาม" ซึ่งทำให้ NGO กรี๊ดสนั่นเมือง (ทั้งที่เคยเชียร์ร่าง คปป.)

ก็สงสัย แล้วจะเอาอะไรขาย ที่ไหนได้ปู่ชู "ปราบโกง" เห็นผล เปล่า! ไม่ใช่ที่เนื้อหา แต่มีคนปลุกกระแสว่าเมื่อนักการเมืองชั่วหวาดกลัว ก็แปลว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นยันต์ปราบผี ไม่ต้องไปอ่านให้เสียเวลา ลงประชามติรับเลย

กลายเป็น "รัฐธรรมนูญแห่งความเกลียดชัง" เกลียดแล้วไม่ต้องคิดหน้าคิดหลัง เหมือนเกลียดทักษิณเลือกสุขุมพันธุ์

ถามจริง ปราบโกงตรงไหน "ทุจริตตัดสิทธิตลอดชีวิต" ข้อห้ามผู้ถูกศาลตัดสินทุจริตก็มีทุกฉบับ นี่กลับไปเพิ่มคดีอื่น มาตรา 93(7) (10) ต้องพ้นโทษจำคุกเกิน 10 ปีจากเดิม 5 ปี และห้ามเพิ่มหลายความผิดรวมทั้งการพนัน แต่ไม่ยักห้ามฆ่าคนตาย ข่มขืนฆ่า ฯลฯ พ้นโทษมา 10 ปีสมัครส.ส.ได้

ไร้สาระมีแต่พวกดูถูกประชาชนที่คิดว่าชาวบ้านจะเลือกคนเคยติดคุกติดตะราง แต่ถ้าเขาเลือก ก็แปลว่าคนๆ นั้นกลับเนื้อกลับตัวหรือเป็นปากเสียงให้เขาได้

อ้าวดูอย่างชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ คนรู้ไหมว่าทำผิด ทำไมคะแนนเป็นล้าน

"ปราบโกง" เอาเข้าจริงคือเพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ให้เล่นงานนักการเมืองได้ง่าย โดยไม่เป็นไปตามกระบวน การยุติธรรม

อำนาจตุลาการศักดิ์สิทธิ์ที่กระบวนการพิสูจน์พยานหลักฐาน โต้แย้งเหตุผลทางกฎหมาย ไม่ใช่ศักดิ์สิทธิ์ที่ตัวคนเป็นๆ ซึ่งมีสิทธิ "ป่วย" เหมือนชาวบ้าน อำนาจตุลาการจึงต้องพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย เช่นจะลงโทษคนทุจริตเลือกตั้ง ก็ต้องพิสูจน์จนถึงตัดสินจำคุก ไม่ใช่ให้กกต.หรือศาลฎีกา "เชื่อได้ว่าทุจริต" แล้วตัดสิทธิโดยประชาชนไม่สิ้นสงสัย

อำนาจตุลาการมีอำนาจชี้ขาดจึงต้องใช้อย่างจำกัด เป็นกลาง ศาลยุติธรรมจึงไม่ใช่ "เปาบุ้นจิ้น" เพราะไม่ได้ไต่สวนเอง ตัดสินเอง แต่นั่งบัลลังก์ชั่งน้ำหนักทั้งสองฝ่าย

องค์กรอิสระกลับมีอำนาจ มากกว่าศาล สอบสวนเอง ตัดสินเอง มีทั้งอำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ กระทั่งอำนาจนิติบัญญัติ ออกระเบียบเพิ่มเลขาฯผู้เชี่ยวชาญ แล้วตั้งลูกตัวเองได้

กกต.มีทั้งอำนาจจัดเลือกตั้ง สอบสวน ตัดสิทธิ ยังเพิ่มอำนาจตรวจสอบนโยบายการเงินการคลังร่วมกับป.ป.ช. สตง. ตามมาตรา 241

สตง.นอกจากมีอำนาจตรวจนโยบาย มาตรา 236(5) ยังให้อำนาจลงโทษทางปกครองผู้ทำผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ใครโดนลงโทษต้องไปอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด เท่ากับสตง.เป็นศาลชั้นต้น

ศาลรัฐธรรมนูญของมีชัยต่างจากปี"50 เพราะเขียนแยกจากหมวดศาล ให้อำนาจไม่จำกัด "พ่อทุกองค์กร" มีอำนาจชี้เป็น ชี้ตายรัฐบาล มีอำนาจเหนือทุกศาล ยึดอำนาจวินิจฉัยวิกฤต ม.7 มาไว้ใน ม.207 โดยสามารถตีความเกินกฎหมาย ทั้งที่ศาลไม่ใช่ผู้มีบุญบารมี ที่ประชาชนเคารพศรัทธา จนชี้ทางออกได้ยามวิกฤต

กรธ.บอกไม่ได้เพิ่มอำนาจ เพราะศาลมีอำนาจตีความรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ใช่ครับ แต่ท่านเขียนรัฐธรรมนูญให้ศาลตีความได้กว้าง

ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจปลดคณะรัฐมนตรี ถ้าทำผิดมาตรา 139 มีส่วนได้เสียกับการเสนอหรือแปรญัตติงบประมาณ มันคืออะไร กรธ.เขียนไว้คลุมเครือ ถ้าส.ส.แปรญัตติเข้าพื้นที่ยังพอเข้าใจ แต่ครม.เสนองบทั้งประเทศทุกพื้นที่ ศาลจะวินิจฉัยอย่างไร

การเขียน กฎหมายให้อำนาจศาลต้องเคร่งครัดชัดเจน ไม่เปิดช่องกว้างให้ใช้ความเห็นเป็นใหญ่ เช่น มาตรา 155 (4) (5) บัญญัติคุณสมบัติรัฐมนตรี "มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์" "ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่าง ร้ายแรง" ฟังดูก็สวยใส แต่มาตรา 165, 231 ให้ส.ส. ส.ว.เข้าชื่อ หรือป.ป.ช.ไต่สวนว่าฝ่าฝืนจริยธรรมแล้วส่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินปลดนายกฯ หรือรัฐมนตรีได้

อะไรคือ "ฝ่าฝืนจริยธรรม" หรือ "ไม่ซื่อสัตย์สุจริต" ชัดเจนว่าไม่ใช่การทุจริตทำผิดกฎหมาย เพราะถ้าทุจริตก็ต้องส่งศาลฎีกาฯ

นี่แปลว่าจะเอาผิดพฤติกรรมที่มีคนเห็นว่า "ไม่เหมาะสม" แต่ไม่ผิดกฎหมาย โดยบทเฉพาะกาลให้ศาลไปออกมาตรฐานจริยธรรม แล้วเอามาใช้ปลดนักการเมือง


จริยธรรมความเหมาะสม ไม่เหมาะสม ถ้ากฎหมายไม่บัญญัติว่าผิด ก็เป็นความเห็นทางสังคม ซึ่งแตกต่างหลากหลาย ยกตัวอย่างนายกฯใช้วาจากับสื่อ บางคนบอกไม่เหมาะเป็นผู้นำ บางคนชอบสะใจจัง แล้วจะเอาความเห็นคน 9 คนมาตัดสินได้ไง เขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้เท่ากับเปิดช่องให้ตุลาการกำจัดคนข้างเดิม แล้วประเทศจะไม่ยิ่งแตกแยกได้อย่างไร

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar