onsdag 26 oktober 2016

จับตา“นายกฯ ประยุทธ์”ยุคเปลี่ยนผ่าน “ป๋าเปรม”กลางมรสุมข่าวลือ บทบาท“บิ๊กเจี๊ยบ”บทบาทกองทัพนำปกป้องสถาบัน



ทันทีที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สวรรคต เมื่อเย็นวันที่ 13 ตุลาคม 2559

บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ถูกจับตาเขม็งว่าจะประคองสถานการณ์ในช่วงการเปลี่ยนผ่านประเทศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเสียอีกนี้ เช่นไร
กล่าวกันว่า เพราะช่วงนี้เป็นรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหาร และยังคงมีการใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะมีนายกฯ ทหารอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นนายทหารเสือราชินี ที่ถวายงานใกล้ชิดทุกพระองค์ และมีความใกล้ชิดกับบุคคลแวดล้อมสถาบัน จึงทำให้สถานการณ์ไม่ก้าวไปถึงขั้นที่ใครๆ หวาดหวั่น
แต่กระนั้น พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาล คสช. และกองทัพ ภายใต้ร่มเงาของ คสช. ก็ถูกจ้องมองว่าจะมีจุดยืนเช่นไร ท่ามกลางกระแสข่าวลือต่างๆ นานา ทั้งแบบที่เป็นเชิงบวกและเชิงลบต่อ คสช. และเชื่อมโยงกับบุคคลทางการเมือง    ประกอบกับข้อมูลการข่าว และการประเมินสถานการณ์ก่อนหน้านี้ จึงทำให้ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. เองก็ต้องไม่ประมาท     นั่นเป็นที่มาที่บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. และเลขาธิการ คสช. ที่สวมหมวก ผบ.กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย สั่งเพิ่มระดับดูแลความสงบเรียบร้อยทันที  พร้อมๆ กับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งตั้ง “ศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์” หรือ ศตส. ขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามสถานการณ์ โดยใช้ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (ศปก.นรม.) เป็นแม่ข่ายหลัก หากต้องมีการติดต่อสื่อสารประชุมทางไกลจากทั่วประเทศfullsizerender-1
ดูผิวเผินแล้วเหมือนจะเป็นแค่การให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร มาจัดระเบียบ มาดูแลความสงบเรียบร้อย ในช่วงที่ประชาชนมารับเสด็จตั้งแต่วันอัญเชิญพระบรมศพ เรื่อยมา จนถึงการถวายความอาลัยที่พระบรมมหาราชวัง ที่มีประชาชนมาต่อคิวเข้าแถวลงนาม และมาถวายดอกไม้ที่ข้างกำแพงวังวันละจำนวนมาก เท่านั้น   แต่ทว่า การดูแลความสงบเรียบร้อยของ คสช. และรัฐบาล ไม่ใช่แค่นั้น แต่หมายรวมถึงความสงบเรียบร้อยทั่วประเทศ      โดยเฉพาะการปล่อยข่าวที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล สับสน รวมถึงเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ ที่อาจนำมาซึ่งการปลุกระดม ปลุกปั่นยั่วยุ    นั่นจึงทำให้ คำสั่งของ คสช. ระบุให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ทั่วประเทศ ทุกกองทัพภาค เพิ่มระดับการดูแลความปลอดภัย ความสงบ   ทั้งนี้เพราะ อย่าลืมว่าก่อนที่จะเกิดความวิปโยคอาดูรจากการสูญเสียพระมหาราชาอันเป็นที่รักยิ่งไปนั้น ตำรวจ ทหาร ฝ่ายความมั่นคง กำลังสกัดแผนการคาร์บอมบ์กรุงเทพฯ-ปริมณฑล อยู่ มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยหลายคน
ดังนั้น ในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ และชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประชาชนมารวมตัวกันเพื่อถวายสักการะและความอาลัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น ก็ต้องระมัดระวัง อย่างหนัก พล.อ.เฉลิมชัย จึงได้ตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบ (กอ.รส.) ขึ้นมา โดยมีบิ๊กแดง พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาค 1 และ ผบ.กองกำลัง  รส.กองทัพภาค 1 ดูแล
img_6633
นอกจากนั้น ยังมีความเคลื่อนไหวของบุคคลสองกลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพราะเกรงว่าจะมีผลในทางการเมือง 2.ขบวนการล้มล้างสถาบัน ที่อาจอาศัยสถานการณ์ช่วงการเปลี่ยนรัชกาล สร้างสถานการณ์และปลุกระดม   โดยพบว่า กกล.รส. ของ คสช. ได้ส่งทหารลงพื้นที่พบปะประชาชน ในการทำความเข้าใจถึงสถานการณ์หลังการสวรรคต และการสืบราชสันตติวงศ์ ตามที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจง เพื่อให้ประชาชนคลายความกังวล และเพื่อป้องกันการปล่อยข่าว ข้อมูลเท็จรวมทั้งความเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนบางกลุ่ม ที่อาจจะไม่ยอมรับและยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยมุ่งเน้นไปทั่งที่ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสาน ที่อาจขัดแย้งกัน    แต่ที่ คสช. ให้น้ำหนักมากที่สุดคือ ขบวนการล้มล้างสถาบัน ที่มีความเคลื่อนไหวมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา   อันสอดคล้องกับการที่ พล.อ.เฉลิมชัย ผบ.ทบ.รบพิเศษ ลูกป๋าคนใหม่ที่ถูกเลือกขึ้นมาเพื่อมารองรับสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ สั่งให้ กกล.รส. ของ คสช. รับมือกับสงครามข่าวสารในโลกออนไลน์ การบิดเบือนและปล่อยข่าวเท็จ โดยสั่งการให้ชี้แจงทันทีเพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ และดำเนินการต่อผู้เผยแพร่ข้อมูลเท็จนั้นทันที   
รวมถึงการที่บิ๊กปุย พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผบ.ทหารสูงสุดคนใหม่ ที่นำ ผบ.เหลาทัพชุดใหม่ แถลงยืนยันที่จะปกป้องสถาบันกษัตริย์ให้อยู่คู่ประเทศไทย ทหารพร้อมที่จะดูแลความสงบเรียบร้อย และความมั่นคง เพื่อให้รัฐบาลและ คสช. เดินหน้าได้ตามโรดแม็ป พร้อมยอมรับว่ามีขบวนการที่เคลื่อนไหว บิดเบือนอยู่
รวมถึง สงครามข่าวสารในโลกออนไลน์ และคนที่โพสต์ข้อความวิจารณ์สถาบันจากต่างประเทศ  ความเคลื่อนไหวของขบวนการเหลานี้ ทำให้ถึงขั้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศต่อหน้าสื่อในคืนวันสวรรคต ว่า
“สถาบันกษัตริย์จะต้องอยู่คู่ประเทศไทย”
%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%81%e0%b9%81%e0%b8%96%e0%b8%a5%e0%b8%87-2

หลังจากที่แถลงเปิดเผยถึงการเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในคืนที่ในหลวงสวรรคต ที่ทรงมีพระราชบัณฑูรที่จะยังไม่ขึ้นสืบราชสมบัติ แต่ทรงมีพระราชประสงค์ให้การพระราชพิธีพระบรมศพเสร็จสิ้นไปเสียก่อน ขอเวลาทำพระทัยจากการสูญเสียพระราชบิดา เช่นเดียวกับคนไทยทั้งประเทศ จนทำให้เข้าใจกันไปว่าอาจจะยาวนานถึง 1 ปี   
ดังนั้น นายวิษณุ จึงต้องออกทีวีพูลชี้แจงเรื่องการสืบพระราชสันตติวงศ์ อย่างละเอียด เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน หรือรู้สึกว่าแผ่นดินว่างเปล่า
สถานการณ์เช่นนี้ จึงนำไปสู่การที่ต้องมี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ยังไม่มีพระราชประสงค์ที่จะกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
แล้วก็เป็นไปตามคาด ที่ป๋าเปรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ต้องทำหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไปพลางก่อน ตามรัฐธรรมนูญกำหนด โดยไม่ต้องมีการแต่งตั้งหรือประกาศคำสั่งใดๆ
แต่พร้อมๆ กันนั้น ก็ส่งผลให้ พล.อ.เปรม ต้องพ้นเก้าอี้ประธานองคมนตรี ไปตามรัฐธรรมนูญ โดยมีการเลือกประธานองคมนตรีคนใหม่ ขึ้นมาทำหน้าที่แทน   
ก่อนหน้านี้มีการคาดกันว่า มีแค่ระหว่าง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกฯ คนที่ 14 วัย 89 ปี ที่เป็นองคมนตรีที่มีอาวุโสสูงสุด และบิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ คนที่ 24 วัย 73 ปี ที่มีอาวุโสอันดับ 2 เพราะการเรียงลำดับองคมนตรีนั้น จะเรียงจากคนที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ก่อน ไม่ได้เรียงตามอายุด้วยความเป็นอดีตนายทหารรบพิเศษ ที่ยังมีร่างกายที่แข็งแรง ประกอบกับเป็น “ลูกป๋า” จึงทำให้ พล.อ.สุรยุทธ์ ได้เปรียบ และกลายเป็นตัวเต็งประธานองคมนตรี คนใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ พล.อ.สุรยุทธ์ ก็ถูกวางตัวให้เป็นทายาทของ พล.อ.เปรม อยู่แล้ว
แม้ นายวิษณุจะระบุว่า หาก พล.อ.เปรม พ้นจากตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว จะกลับมาทำหน้าที่ประธานองคมนตรี ได้อีกก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว สายลูกป๋ามองว่าหากมีการตั้งประธานองคมนตรี คนใหม่ มาแทนชั่วคราวแล้ว พล.อ.เปรม ก็อาจจะวางมือไปเลย เมื่อพ้นหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ ในการประชุมองคมนตรีล่าสุด เพื่อเลือกประธานองคมนตรีคนใหม่ แทน พล.อ.เปรม นั้น ผลออกมาจึงกลายเป็นแค่การให้ พล.อ.สุรยุทธ์ ปฏิบัติหน้าที่แทน ประธานองคมนตรี ไปพลางก่อนเท่านั้น ไม่ได้มีการทูลเกล้าฯ เพื่อให้แต่งตั้งประธานองคมนตรี คนใหม่
เพื่อเปิดช่องให้ พล.อ.เปรม กลับมาเป็นประธานองคมนตรี ได้อีกครั้ง เมื่อ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ
แน่นอนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมทำให้เกิดความหวาดหวั่นว่าจะส่งผลกระทบต่อโรดแม็ปของ คสช. แม้ นายวิษณุ จะระบุว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สามารถลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ยังไม่มีใครอาจหยั่งรู้ได้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่   หรือว่าทุกอย่างจะต้องยืดออกไปก่อน รวมทั้งการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปลายปี 2560 นั้น ก็ไปประจวบเหมาะกับ พระราชพิธีพระบรมศพ พอดี
อีกทั้ง เป็นพระราชบัณฑูรในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ อีกด้วย ที่ทรงมีรับสั่งกับทั้ง พล.อ.เปรม ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ในการเข้าเฝ้าฯ อีกครั้ง เมื่อคืนวันที่ 15 ตุลาคม 2559
201509021108267-20030315183328

ในเวลานี้ สถานภาพของ พล.อ.เปรม ผู้นำแห่งสายบ้านสี่เสาเทเวศร์ ได้เปลี่ยนไปแล้ว จากประธานองคมนตรี เป็น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และรัฐบุรุษ ที่ถือว่าเป็นเกียรติยศสูงสุดในชีวิตสามัญชน
แต่ดูเหมือนว่าคนใกล้ชิด พล.อ.เปรม ยังคงดูท่าทีต่างๆ ด้วยความนิ่งเงียบก่อน เพราะยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร    แต่ชีวิตส่วนตัวของ พล.อ.เปรม ยังคงเหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก มีแต่งานที่รับผิดชอบเปลี่ยนไป และมีรายละเอียดต่างๆ มากขึ้น เท่านั้น
ท่ามกลางกระแสข่าวลือมากมายที่พุ่งไปที่ตัว พล.อ.เปรม และการที่ยังไม่มี พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ และการจับตามองไปที่ปลายทางของ พล.อ.เปรม จะเป็นเช่นไร 
เหล่านี้จึงนำมาซึ่งการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาประกาศหลังการประชุม ครม. เมื่อ 18 ตุลาคม 2559 ว่า รัฐบาลและประธาน สนช. จะทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 23 และกฎมณเฑียรบาล ในเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ 
โดยเมื่อพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ผ่านพ้นในช่วง 7 วัน หรือ 15 วัน ไปแล้วระยะหนึ่ง น่าถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 23 โดยจะแจ้งประธาน สนช. เพื่อจัดให้มีการประชุม สนช. เพื่อทำตามรัฐธรรมนูญ ในการเสนอพระนามพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่“รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ใหม่ จะเป็นผู้ลงพระปรมาภิไธย” พลเอกประยุทธ์ กล่าว 
จากเดิมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ นายวิษณุ ระบุว่า ทรงมีพระราชบัณฑูร ให้รอเรื่องพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ เสร็จสิ้นระยะหนึ่งก่อน 
เพราะทำให้เกิดข่าวลือต่างๆ ตามมา ว่าในช่วง 1 ปี นับจากนี้ บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร หากไม่มีพระมหากษัตริย์ โดยให้ พล.อ.เปรม เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 
“ข่าวลือเยอะมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการตีความกันมากมาย แต่ขอให้ฟังผมพูด ไม่ต้องไปตีความการนำเสนอข่าวของสื่อต่างประเทศ ที่จะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง และส่งผลต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่แสนงดงามของไทยเราที่แตกต่างจากประเทศอื่น เราต้องช่วยกันทำให้สถาบันของเราเข้มแข็งในยุคของพวกเรานี่” พลเอกประยุทธ์ กล่าว 
พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ และข่าวลือมากมาย หลังจากที่ พล.อ.เปรม เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เนื่องจากไม่มีใครรู้ระยะเวลาที่ชัดเจน จึงทำให้ร่ำลือกันไปต่างๆ นานา
 “ผมจึงขอย้ำว่า เรามีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นการชั่วคราว ไปพลางก่อน เท่านั้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว   
จึงสอดคล้องกับการที่ องคมนตรี ไม่ได้มีมติแต่งตั้งใครเป็นประธานองคมนตรี คนใหม่ แทน พล.อ.เปรม แต่ให้ พล.อ.สุรยุทธ์ ปฏิบัติหน้าที่แทนชั่วคราวก่อนเท่านั้น โดยยังมี นายธานินทร์ เป็นองคมนตรีที่มีอาวุโสสูงสุด ยืนหัวแถวแทนประธานองคมนตรี ในการพระราชพิธีต่างๆ 
“ประเทศหยุดไม่ได้ แต่ความเสียใจก็ห้ามไม่ได้ ผมเสียใจเหมือนกับคนไทยทุกคน แต่ผมจะต้องมีสติในการเดินหน้าประเทศต่อไป โดยยืนยันว่าโรดแม็ปต่างๆ การเลือกตั้ง ยังเป็นไปตามเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง” พล.อ.ประยุทธ์ ชี้ชัด    
ท่ามกลางสายตาชาวโลกที่จับตามองประเทศไทย ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป นับแต่วันนี้ จนถึงการเปลี่ยนผ่านประเทศ และหลังจากนั้น…  ภายใต้นายกรัฐมนตรีทหารเสือราชินี นาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar