torsdag 27 oktober 2016

นักการเมืองป่วน? ใบตองแห้ง ประเทศยังอยู่ในความเศร้าสาธารณะ

 
นักการเมืองป่วน? ใบตองแห้ง ประเทศยังอยู่ในความเศร้าสาธา
ประเทศยังอยู่ในความเศร้าสาธารณะ แต่ชีวิตและเศรษฐกิจก็ต้องดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับความขัดแย้งทางการเมือง หรือการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในส่วนไม่ เกี่ยวกับพระราชพิธี ซึ่งตราบใดที่รัฐบาลยังเดินหน้ามาตรการต่างๆ จะให้หยุดวิพากษ์วิจารณ์คงไม่ได้ แต่ก็มีกองเชียร์บางรายตั้งแง่ มาป่วนอะไรในช่วงนี้
อ้าว ก็รัฐบาลเรียกค่าเสียหายจำนำข้าว 35,000 ล้าน จะไม่ให้เขาดิ้นสู้ได้อย่างไร จะให้ยอมโดนขึงพืดเสียแต่ โดยดี ยังงั้นหรือ
อันที่จริง กองเชียร์ยิ่งลักษณ์ก็ตั้งแง่ รัฐบาลฉวยโอกาส หรือเปล่า แต่มองอย่างให้ความเป็นธรรม เมื่อกระบวนการเดินมาถึงที่สุด รัฐบาลก็ต้องลงนาม ในทางกลับกันรัฐบาลก็ต้องยอมรับว่า เมื่อออกคำสั่งแล้วย่อมเกิดการโต้เถียง ไม่ใช่ไล่ไปพูดในศาล อย่ามาชี้แจงผ่านสื่อ ฯลฯ เพราะนี่คือการเอาผิดหัวหน้ารัฐบาลจากการดำเนินนโยบายสาธารณะ จึงเป็นประเด็นที่สาธารณชนสามารถถกเถียง
อย่างเช่น บรรยง พงษ์พานิช ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายจำนำข้าวสักนิด ยังท้วงติงว่า การเอาผิดกับรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ จากการดำเนินนโยบาย แบบใครเกี่ยวข้องโดนหมด ไม่ว่าโกงหรือไม่โกง จะส่งผลไปถึงอนาคต ทำให้รัฐบาลและข้าราชการไม่กล้าตัดสินใจ ถ้ามีแต่คนจ้องจับผิด กับคนกลัวผิด ประเทศก็ติดกับดัก ไม่ต้องเดินไปไหน
ดูง่ายๆ ขนาดโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีของรัฐบาลนี้ ก็ยังมี 3 หน่วยงาน สำนักงบฯ สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง ท้วงติงว่าอาจขาดทุนบานปลาย นี่ถ้าไม่มี ม.44 แล้วโดนย้อนมาเรียกค่าเสียหายจะว่าไง
ความเศร้าสาธารณะ (Public Grief) เมื่อสังคมสูญเสียบุคคลสำคัญอันเป็นที่รัก ย่อมส่งผลทางการเมืองโดยอัตโนมัติ เพราะทำให้เกิดอารมณ์เศร้า ซึ้ง เกิดภราดรภาพ รู้รักสามัคคี แต่ก็มีความแปรปรวน ไปเป็นความรู้สึกโกรธและทำลายล้าง ได้ง่าย
ทุกฝ่ายจึงต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะเมื่อเป็นความเศร้า จากการเสด็จสู่สวรรคาลัย ไม่ควรนำพระองค์ท่านมาเกี่ยว ข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า การเมืองไทยยังคงขัดแย้งกันต่อไป อีกด้านหนึ่งก็แสดงออกให้เหมาะสมในช่วงถวายความเคารพและไว้อาลัย ซึ่งแต่ ละช่วง ย่อมแตกต่างกันไป
ผู้มีอำนาจเป็นด้านหลักที่จะกำหนดสถานการณ์การเมือง เพราะเป็นผู้ออกมาตรการ คำสั่ง และกฎหมาย ตัวอย่างเช่น เมื่อรัฐบาลยืนยันว่าจะไม่เลื่อนเลือกตั้ง จะยังทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามกำหนดเดิม สังคมก็ต้องถกเถียงสิครับ จะให้นั่งใบ้ได้ไง
ไม่ใช่ว่า กกต.ออกมาแถลง น้อมนำพระบรมราโชวาท “ส่งเสริมคนดีปกครองบ้านเมือง ควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ” แล้วบอกว่านับแต่นี้จะไม่เป็นหอเอียง จะใช้อำนาจจัดการนักการเมือง ฯลฯ แล้วประชาชนจะไม่โต้แย้ง
ช่วงเวลาจากนี้ไป แม้ความโศกเศร้ายังไม่จางหายแต่ผู้คน ก็จำต้องหันมาสนใจปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง อย่างเลี่ยงไม่ได้ ตั้งแต่ปัญหาภาคใต้ ที่เกิดเหตุระเบิดสลดใจ พร้อมๆ กับการละเมิดสิทธินักศึกษามุสลิมที่ถูกกวาดจับ ในกรุงเทพฯ ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ ที่บางจังหวัดไม่ปรับ บางจังหวัดปรับอย่างเสียไม่ได้ 5 บาท 8 บาท 10 บาท ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาถูกกดราคาความชื้นสูงเหลือตันละ 5,500-6,500 บาท หรือปัญหาปากท้องของคนที่ถูกจัดระเบียบ เช่น หาบเร่ แผงลอย รถตู้ถูกไล่ไปอยู่ บขส.โดยไม่สามารถมีปากเสียง ฯลฯ
ฉะนั้น มีอะไรก็ต้องถกกันอย่างใช้เหตุผล อย่าพูดแบบ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ว่าขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงเศร้าโศกและอ่อนไหว ไม่ควรใช้จังหวะนี้ออกมาวิจารณ์เศรษฐกิจ ไม่รู้กาลเทศะ ฯลฯ
แหม ประชาชนไม่ได้เชื่อคนวิจารณ์ไปเสียหมดหรอกนะครับ แต่รัฐบาลก็ต้องชี้แจงตามความเป็นจริง ทั้งตัวเลขนักท่องเที่ยว การใช้จ่าย การลงทุน ผลการดำเนินนโยบาย ไม่ใช่อ้างความเศร้าสาธารณะมาปิดปาก ยับยั้งการวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนเขารู้กาลเทศะอยู่หรอก เขาแยกออกจากพระราชพิธี ไม่ได้ไปวิจารณ์รัฐบาลเรื่องนั้นซักหน่อย

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar