lördag 8 oktober 2016

คำสารภาพ ที่สะทกสะท้อนใจ ......

08 ต.ค. 2016

วัสชโย ชินะนาวิน
อดีตนักเรียนอาชีวะ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ
“ผมเชื่อว่าถ้าวันที่ 6 ตุลา ผมอยู่ร่วมในเหตุการณ์ขณะนั้น ผมจะต้องฆ่านักศึกษาแน่…ผมเชื่ออย่างนั้น ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า เราถูกครอบงำทางความคิดจากคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการแบ่งแยกและทำลายกลุ่มนักศึกษากับกลุ่มนักเรียนอาชีวะ จนถึงวันนี้ผมแน่ใจว่า มีกลุ่มบุคคลที่มีทั้งงบประมาณและระบบการทำงานระดับมืออาชีพคอยชี้นำและควบคุมความคิดเราอยู่ตลอดเวลา ความรุนแรงในใจเราถูกปลุกเร้า และคนที่ถูกปลุกเร้าให้เกิดความโกรธแค้นก็ต้องระบายออกมาตามสัญชาตญาณ
“ทุกวันนี้ภาพเหตุการณ์เหลานั้นยังเป็นภาพหลอนผมอยู่ แม้ผมไม่ได้ทำผมก็เสียใจ นักศึกษาประชาชนมีจิตวิญญาณ มีอุดมการณ์ เขาเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติ แล้วถูกฆ่าอย่างนั้น เขาผิดอะไร เขาเพียงมีความคิดไม่ตรงกับผู้มีอำนาจในเวลานั้นเท่านั้นเอง”
วัสชโย ชินะนาวิน อดีตนักเรียนอาชีวะเมื่อ 20 ปีก่อน เปิดใจถึงความคิดความรู้สึกของตนจากเวลานั้นถึงปัจจุบัน
“ที่ผมเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะว่าผมเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ซึ่งขณะนั้นสูงสุดของอาชีวะคือที่นี่ เพราะอาชีวะไม่มีปริญญา ผมเข้าไปเกี่ยวข้องช่วงที่กลุ่มนักเรียนอาชีวะเริ่มแบ่งออกเป็นสองส่วนแล้ว เพราะหลังจาก 14 ตุลา เริ่มมีข่าวลือว่าศูนย์กลางนิสิตฯ นำเงินที่ได้จากการบริจาคไปซื้อรถ และใช้จ่ายในเรื่องส่วนตัว ทุกครั้งที่มีการไฮปาร์กของนักเรียนอาชีวะจะมีคนพูดถึงเรื่องนี้ พวกเราก็รู้สึกแย่ เพราะต่างรู้สึกว่าตอน 14 ตุลา พวกเราก็ตายเยอะเหมือนกัน เราไม่รู้ว่าในขณะนั้นมีการจัดตั้งกลุ่มเข้ามาแทรกซึมพวกเราแล้ว”
ในช่วงนั้นนักเรียนอาชีวะเริ่มแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายที่อยู่เคียงข้างกับนักศึกษา คือ แนวร่วมอาชีวะเพื่อประชาชนแห่งประเทศไทย จะมีศูนย์กลางอยู่ที่ช่างกลพระรามหก หรือที่เรียกว่า “รามซิก” อีกส่วนหนึ่งที่ต่อต้านนักศึกษาเรียกว่า ศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะฯ มีศูนย์กลางการชุมนุมอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ วัสชโยเล่าบรรยากาศของศูนย์อาชีวะในขณะนั้นให้ฟังว่า
“ศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะฯ จะเป็นเหมือนกองกำลัง มีระบบรักษาความปลอดภัยเป็นแนวหน้า เปรียบได้กับนักรบ จนวันหนึ่งเริ่มมีข่าวลือหนาหูว่า พวกเราถูกศูนย์กลางนิสิตฯ หลอกใช้ เพราะว่าเขากำลังเอาลัทธิบางอย่างเข้ามา จึงเริ่มเกิดความระแวง ตัวผมเองไม่ได้ให้ความสนใจตรงนั้น เพราะผมเป็นเด็กเรียน แต่เมื่อมีการเรียกประชุม ผมก็ไปประชุมร่วมแสดงความคิดเห็นกับเขา ล่าสุดมีคนมาแจ้งว่า มีนักศึกษาเทคนิคกรุงเทพคนหนึ่งชื่อว่า ไอ้แจ๋วถูกยิงที่กระโหลก แล้วมีคนนำไปทิ้งไว้ในถังขยะ พอดีมีคนไปพบเข้าจึงนำไปส่งโรงพยาบาล ในระหว่างนั้นมีข่าวลือออกมาว่าพวกรามซิกยิง เพราะไอ้แจ๋วถูกยิงหลังจากไปฟังการชุมนุมที่ลานโพ ธรรมศาสตร์ ขณะนั้นอาชีวะกับศูนย์กลางนิสิตฯ เริ่มแยกตัวออกจากกันแล้ว ทำให้มีความขัดแย้งกับศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะฯ พอสมควร
“ช่วงหลังเวลาที่มีการอภิปรายในกลุ่มอาชีวะ สิ่งที่ถูกยกขึ้นมาโจมตีเริ่มเกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษา ผมไม่ได้ไปร่วมชุมนุมทุกครั้ง แต่เมื่อมีคนมาบอกว่าไอ้แจ๋วถูกยิงเราก็แค้น ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิง ตอนนั้นมีความเชื่อว่าศูนย์กลางนิสิตฯ เปลี่ยนไปแล้ว มันหลอกใช้พวกเรา เริ่มแบ่งเป็นมันเป็นเราแล้วระแวงกันมากขึ้นทุกวัน”
วัสชโยอธิบายถึงธรรมชาติของนักเรียนอาชีวะให้เราฟังว่า
“นักเรียนอาชีวะไม่ได้ถูกสอนให้ตรวจสอบความจริง เราถือว่าเลือดย่อมข้นกว่าน้ำ ผมเองก็ไม่เคยรู้จักกับไอ้แจ๋วมาก่อน แต่เรียนที่เดียวกันแล้วใครจะแตะต้องไม่ได้ เพราะกูคืออาชีวะ ในยุคนั้นใครที่ใส่เข็มขัดเทคนิคกรุงเทพอาชีวะทุกคนต้องเรียกว่าพี่ ไม่กล้าหือ มันมีความคิดแบบนี้”
นอกจากนี้ช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคมก็เป็นความกดดันเบื้องลึกของเหลานักเรียนอาชีวะ ซึ่งได้กลายเป็นชนวนสำคัญอันหนึ่งของความรุนแรงในครั้งนี้
“เท่าที่ผมได้ยินมา เวลากินเหล้าแล้วเมา ๆ หรือนั่งคุยกันไป ก็จะมีคนพูดทำนองว่า พวกเราทำงานแทบตายไม่มีวันที่จะได้ขึ้นไปเป็นนายหรอก อย่างดีก็แค่ขี้ข้ามัน เวลานั้นผมก็รู้สึกอย่างนั้น ผมไม่ชอบนักศึกษา เพราะมาคิดดูว่าร่วมเป็นร่วมตายมาด้วยกัน แต่ทำไมนักศึกษาในยุคนั้นถึงใหญ่มาก แต่อาชีวะเหลือตัวนิดเดียว มันเป็นความเก็บกดของเรา เพราะสังคมแบ่งชนชั้น เราน่าจะเป็นเนื้อเดียวกันแต่ก็เป็นไม่ได้ เขามายิงเพื่อนเราบาดเจ็บทำไมเขาไม่รับผิดชอบ”
เรื่อง “ไอ้แจ๋ว” กลายเป็นจุดแตกหักที่ชัดเจน เมื่อนักเรียนอาชีวะประกาศ “คว่ำบาตร” นักศึกษาอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคม 2518
“ผมจำได้ว่า ประมาณเดือนสิงหาคมมีการประท้วง อาชีวะทุกคนไม่ต้องเรียน ให้มาชุมนุมกันที่เทคนิคกรุงเทพ ทุกคนมุ่งหน้าเข้ามาแล้วก็ตั้งประเด็นว่าทำไมศูนย์กลางนิสิตฯ ทำร้ายเพื่อนเรา ตอนนั้นเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ เป็นเลขาศูนย์กลางนิสิตฯ เกรียงกมลบอกว่า เรารับผิดชอบอะไรไม่ได้ อาชีวะกับศูนย์กลางนิสิตฯ ทำไมต้องฆ่ากัน ตอนนั้นอาชีวะก็แรง อีกประเด็นคือ เงินที่เก็บไปแบ่งมาดูแลไอ้แจ๋วบ้างได้ไหม ผลจากการคุยกันวันนั้น ตกลงกันไม่ได้จึงประกาศคว่ำบาตร
“เรื่องชาตินิยมก็เป็นเหตุผลอีกประการหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการแตกหักในครั้งนี้ เพราะเราสังเกตได้ว่า อาชีวะส่วนใหญ่มาจากบ้านนอกซึ่งเป็นคนไทย แต่นักศึกษามักมีเชื้อสายจีน ทำให้เราคิดว่าพวกนี้ถูกจัดตั้งเป็นคอมมิวนิสต์จีนเข้าแล้ว รู้สึกว่าไม่ไหวแล้วมันจะพาเราไปทางไหน เลือดรักชาติมันขึ้น”
หลังจากได้รับคำตอบจากทางศูนย์กลางนิสิตฯ ว่าไม่สามารถหาตัวคนรับผิดชอบการยิง “ไอ้แจ๋ว” ได้ ศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะฯ จึงเดินขบวนไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“พอนักเรียนอาชีวะไปรวมกันปั๊บบนเวทีไฮปาร์กก็ประกาศว่า นักศึกษาตั้งบังเกอร์เอาไว้ ข้างในมีปืน เขาเตรียมรับมือเราอยู่ ทุกคนที่ได้ยินก็ฮือ ปรับขบวนเตรียมระเบิดจะไปขว้างที่ธรรมศาสตร์ พอไปถึงก็ไม่มีนักศึกษาอยู่เลย เงียบหมด แต่ด้วยความคะนองในตอนนั้น ก็มีคนปาระเบิดเข้าไปเล่น ๆ แล้วบังเอิญไปโดนกระป๋องสีที่ช่างทาสีทิ้งไว้จึงเกิดไฟลุก แล้วไปโดนผ้าม่าน บางคนนึกสนุกก็ไปดึงผ้าม่านลงมา เห็นไฟลุกก็สนุกกันใหญ่ แต่ไม่มีใครตั้งใจเผา เพราะถ้าเผาธรรมศาสตร์ก็คงไม่เหลือ”
ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่กลุ่มกระทิงแดงเริ่มเข้ามาแทรกแซงในหมู่นักเรียนอาชีวะอย่างชัดเจน ในสายตาของนักเรียนอาชีวะยุคนั้น “กระทิงแดง” หมายถึง “อัศวิน” ที่มีผู้คนยอมรับให้เป็นผู้นำ
“ตอนนั้นใครได้เป็นกระทิงแดงถือว่าเจ๋งพอสมควร มีเพื่อนคนหนึ่งมาชวนผมว่า ถ้าเป็นแล้วจะได้สิทธิอย่างนั้นอย่างนี้ ตำรวจไม่กล้ามายุ่ง กระทิงแดงไม่ใช่บริษัทที่ใครจะสมัครเข้าไปได้ เพราะจะต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้นำ เป็นต้นว่า มีคนต่อยกันเราต้องสามารถเข้าไปกระชากคอแล้วโยนมันลงน้ำได้ และคนที่เป็นกระทิงแดงจะรู้สึกว่ากำลังทำงานสำคัญอย่างหนึ่งเพื่อประเทศชาติ เขาว่าอย่างนั้นจริง ๆ นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่มากมาย เช่น เสื้อกั๊กมีหัวกระทิงแดงด้านหลัง เหมือนกับมีเข็มขัดอัศวิน มีการแบ่งชนชั้นกันคล้าย ๆ กับยศในกองทัพ”
ขณะนั้นวัสชโยปฏิเสธคำชวนจากเพื่อนด้วยคิดว่าตนเองยังไม่ “เจ๋ง” พอ ประกอบกับเป็นเด็กเรียนดีและได้รับทุนจากวิทยาลัยจึงไม่อยากเข้าร่วมอย่างเต็มที่
บังเอิญขณะที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นช่วงที่เขาเรียนจบและต้องออกฝึกงานที่พัทยา ทำให้เขาพลาดการเข้าร่วมในครั้งนั้น
“ถ้าผมมาร่วมในวันนั้น ผมต้องฆ่านักศึกษาแน่ ๆ ตอนนั้นผมไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ ฟังวิทยุยานเกราะผมก็เชื่อหมด ยังอยากเข้ามาร่วมที่กรุงเทพฯ เลย พอเห็นภาพที่มีการฆ่ากัน ผมยังชอบและรู้สึกสะใจเลย ตอนนั้นความรุนแรงมันอยู่ในใจเรา เขาปลุกระดมว่า พวกนี้เอาไว้ไม่ได้ เป็นภัยต่อแผ่นดิน หนักแผ่นดิน พวกนี้จะทำลายราชบัลลังก์ เพราะฉะนั้นการแขวนคอนักศึกษาแล้วนำมาทุบตีจึงกลายเป็นความสะใจ เป็นความรุนแรงที่ถูกปลุกเร้าให้เกิดความโกรธแค้นแล้วจึงแสดงออกแบบนี้”
หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ผ่านไป เขาเริ่มค้นพบความจริงบางอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน
“เมื่อผมเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ ผมก็เริ่มได้เห็นความคิดบางอย่างจากนายทหาร จากการที่เขาสอนให้เราปฏิบัติการบางอย่างเพื่อความมั่นคง มันทำให้ผมรู้สึกว่าผมโง่ไปถนัด และพอหนังสือพิมพ์เริ่มลงข่าว มีคนเริ่มออกมาตอบโต้ พูดความจริงบ้างแล้ว เราก็เริ่มเอะใจ เริ่มคิดเริ่มทบทวนบทบาท นักศึกษาที่เป็นเพียงตัวจักรเล็ก ๆ ในเหตุการณ์นี้เท่านั้น”
จากนิสัยที่เป็นคนไม่หยุดนิ่ง เขาจึงเริ่มค้นหาความจริงต่อไป จนกระทั่งเริ่มมั่นใจว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือของใครบางคน
“เราเริ่มขุดคุ้ยเหตุการณ์หลายอย่างในช่วงนั้นซึ่งมันยังสด ๆ กับเราอยู่ พยายามถามคนนั้นคนนี้ว่าอะไรเป็นอะไร ไหนบอกว่านักศึกษาจงใจแต่งหน้าเป็นองค์รัชทายาท แล้วไปแขวนคอ แต่ไป ๆ มา ๆ แล้วมันไม่ใช่ เราเชื่อเพราะว่าเราฟังข่าวจากสถานีวิทยุที่เป็นของรัฐบาล เราคิดว่าต้องเป็นเรื่องจริง แต่ตอนหลังเริ่มสับสน เริ่มทบทวนและลำดับเหตุการณ์ แล้วคิดว่าเราโง่ไปถนัด เริ่มรู้สึกว่าเราโดนหลอกแน่แล้ว”
เขาจำได้ดีถึงความรู้สึกในวันที่ได้รู้ความจริง
“ผมแค้นและผมเสียใจ แค้นแรกผมถูกหลอก แค้นที่สอง ทำไมเขาใจดำเหลือเกิน ยุให้คนฆ่ากัน ยุให้ชาวบ้านไปฆ่าเด็ก แค้นที่สามก็คือ จนบัดนี้เขายังไม่สำนึก”
จนถึงวันนี้เพื่อนของเขาหลายคนไม่อยากพูดถึงเหตุการณ์นี้อีก แต่สำหรับเขากลับคิดว่า ความจริงควรได้รับการเปิดเผย
“เวลาใครว่า ไม่อยากพูดถึง 6 ตุลา ผมบอกว่าทำไมถึงไม่อยากพูดกัน เป็นอะไรนักหนา ฝ่ายที่เขากระทำเขาไม่อยากพูด เพราะมันเหมือนกับเขากำลังยอมรับความผิดที่เขาทำ เขาเจตนาเขาฆ่าประชาชน แต่ฝ่ายที่เสียหายเขาก็อยากพูด ต้องการความยุติธรรม ผมถามว่าถ้าลูกสาว ลุกชายคุณถูกนำไปนั่งยางแล้วเผาไฟ ถูกตี ถูกแขวนคอ คุณจะรู้สึกอย่างไร คุณต้องเข้าใจความรู้สึกสูญเสียของคนเป็นพ่อแม่ เท่านั้นยังไม่พอ ยังผลักดันให้พวกเขาต้องเข้าป่า เพราะเขาไม่มีทางเลือก เขาไม่มีที่อยู่แล้วในสังคมนี้
“ถ้าเวลานั้นผมมั่นใจว่าผมทำผิด ผมก็บอกว่าผิด ถึงวันนี้ ผมกล้าออกมาพูดว่าผมเสียใจ ผมพูดแทนตัวผมคนเดียว คุณพูดอย่างนั้นได้ไหม พูดว่าเสียใจก็พอ คุณไม่สามารถปิดฟ้าด้วยฝ่ามือคุณได้ คนที่ทำผิดแล้วยอมรับผิดเขาเรียกว่าลูกผู้ชาย ผมเรียกร้องตรงนี้ ก้าวออกมาเถอะ 20 ปีแล้ว ประวัติศาสตร์มันไม่เปลี่ยน แต่มันจะเปลี่ยนอนาคตข้างหน้า พยายามทำประวัติศาสตร์ให้ถูกต้องด้วยคำว่าเสียใจ ให้ความยุติธรรมแก่ลูกของคุณ คุณอาจบอกลูกคุณว่า พ่อมีส่วนขนาดไหน อย่าปกปิด อย่างน้อยก็บอกว่าพ่อไม่มีเหตุผลหรอกลูก แต่พ่ออยากบอกสักคำว่าพ่อเสียใจ วันนั้นพ่อคิดอย่างนั้นจริง ๆ แต่วันนี้พ่อขอโทษ อย่างน้อยก็ล้างบาปในใจได้บ้าง”
ทุกวันนี้วัสชโย ชินะนาวิน ยังมีความรู้สึกผิดอยู่ลึก ๆ ในหัวใจของเขาตลอดเวลา เขาไปร่วมงานรำลึก 6 ตุลา อยู่เสมอ และไม่คิดจะไปแสดงความแค้นกับใคร เขาใช้เวลาบางส่วนในชีวิตกับการทำงานเพื่อสังคม
“ผมเป็นวิทยากรเคลื่อนไหวอยู่กับขบวนการผู้ใช้แรงงาน และมีอาชีพอิสระ เวลามีม็อบผมก็ไปร่วม เพราะอย่างน้อยวันนี้ผู้ด้อยโอกาสได้รับความช่วยเหลืออย่างเป็นกระบวนการ ผมไม่หยุดหรอกตราบใดที่สังคมยังห่วยแตกอย่างนี้ ผมทำได้ภายใต้กฎหมายอนุญาต ผมไม่เล่นนอกกติกา แต่ถ้าถามว่ามีโอกาสจะแก้กติกาไหม ผมจะแก้ ผมทำอะไรไม่ได้มากเพราะผมเป็นแค่เม็ดทรายเล็ก ๆ ในสังคมเท่านั้นเอง”
ที่มา : คัดจากนิตยสารสารคดี ปีที่ 12 ฉบับที่ 140 ประจำเดือนตุลาคม 2539
หมายเหตุ : ภาพประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ไม่ใช่ตัวบุคคลที่อ้างอิง

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar