torsdag 19 december 2013

ฝากให้ "ศาลเอียงข้าง"อ่าน.. ศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เห็นว่า การชุมนุมของประชาชนตามคำร้องเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง "บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน... "



สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการ ป.ป.ช. อาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาล และการพิจารณาคดี (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ระยะนี้ประชาชนชาวไทยกำลังรู้สึกเครียดกับเรื่องม็อบต่างๆ ซึ่งดาวกระจายไปตามสถานที่ราชการหลายแห่ง เป็นเหตุให้รัฐบาลออก พ.ร.บ.ความมั่นคง ถึงกระนั้นฝ่ายรัฐก็ไม่กล้าใช้อำนาจเต็มที่ตามที่มีในบทบัญญัติของกฎหมาย จึงต้องใช้วิธีพูดคุยโดยสันติ ซึ่งก็คงต้องทำในสภาพบ้านเมืองปัจจุบันนี้ เพราะบุคคลมักไม่เกรงกลัวกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รักษาการตามกฎหมาย เพราะสั่งอะไรก็ไม่ทำตาม แต่กลับไปเชื่อฟังผู้นำม็อบมากกว่า

ผู้เขียนก็เห็นว่าประชาชนชุมนุมได้ตามสิทธิ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ได้ให้สิทธิดังกล่าวนี้ไว้ แต่อ่านมาตรา 63 แล้ว ก็อย่าลืมพลิกไปดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 28 ซึ่งบัญญัติว่า

"บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน... "


การที่ต่างพากันเดินดาวกระจายไปตามถนนสายต่างๆ เกือบทั่วกรุงเทพมหานคร อันเป็นเหตุให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เขาจำเป็นต้องใช้ถนนหนทางไปทำกิจส่วนตัวของเขาโดยปกติสุขต้องวนไปใช้เส้นทางอื่น จนทำให้เขาต้องกระทบกระเทือนทั้งร่างกายและจิตใจนั้น ก็ลองคิดดูว่าท่านละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 28 อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศหรือไม่ ถึงแม้ท่านจะใช้สิทธิตามมาตรา 63 ได้ก็ตาม

นอกจากเรื่องม็อบต่างๆ แล้วก็ยังมีเรื่องสับสนเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนจะไม่สับสนได้อย่างไรเพราะมีนักการเมืองบางกลุ่มที่ได้รับผลเสียจากการวินิจฉัยของศาลครั้งนี้ออกมาตอบโต้ว่าไม่ยอมรับอำนาจศาล ส่วนนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามก็ออกมากล่าวหาอย่างรุนแรงว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบที่ไม่ยอมรับอำนาจตุลาการ

ไม่ใช่แค่นักการเมือง ยังมีนักวิชาการทางด้านกฎหมายก็แบ่งแยกความคิดเห็นเป็น 2 ฝ่าย โดยให้เหตุผลในทางวิชาการไว้อย่างน่าคิดทั้งสิ้น คนที่ไม่ใช่นักกฎหมายในบ้านเมืองนี้จึงงงเป็นไก่ตาแตกไม่รู้จะเชื่อฝ่ายใดดี แง่คิดง่ายๆ ไม่ต้องคิดลึกก็คือ การแถลงไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลใดๆ ก็ตามจะกระทำมิได้

ขออนุญาตอ้างอิงคำตอบของท่านอดีตประธานวุฒิสภา และอดีตประธานรัฐสภาที่ว่า เราเป็นประชาชน ไม่ใช่อันธพาล จึงต้องปฏิบัติตามคำตัดสินอันเป็นที่สุดของศาล ต้องประพฤติตนตามกติกาของบ้านเมือง การจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยย่อมทำได้และเป็นของธรรมดา แต่จะปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับ หรือไม่รับรู้เห็นจะไม่ได้ เพราะถ้าบ้านเมืองไร้ขื่อแป จะมีผลต่อเราโดยตรง ไม่เหมือนคนที่เป็นนักการเมือง ที่กอบโกยเงินทองไว้ล้นเหลือ ที่ถึงเวลาเขาก็หอบเงินและลูกเมียไปเสวยสุขยังต่างประเทศได้

เป็นคำตอบที่ครบและค่อนข้างชัดเจนในกรณีเป็นเรื่องที่ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น

เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยออกมาแล้ว บุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเสียประโยชน์หรือได้ประโยชน์ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาล จะอ้างว่าไม่ยอมรับอำนาจศาลไม่ได้โดยเด็ดขาด แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่ศาลไม่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นแต่ไปวินิจฉัยคดีที่ศาลไม่มีอำนาจ ผลแห่งคำวินิจฉัยนั้นน่าจะไม่ชอบ

ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้คนที่ไม่ใช่นักกฎหมายเข้าใจ เช่น คนที่ไม่มีเงินในกระเป๋าสักบาทเดียว จะเอาเงินที่ใดไปใช้ซื้อสิ่งของเล่า

พิจารณาดูคำแถลงการณ์ของผู้เสียประโยชน์จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วน่าจะเป็นเรื่องแถลงการณ์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขที่มาของ ส.ว. ในรัฐสภา ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการไม่ยอมรับอำนาจศาล ซึ่งหมายถึงไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาล



เมื่อเราพูดถึง "ศาล" จำเป็นต้องพิจารณาให้เข้าใจใน 2 เรื่องดังนี้

1.เขต หรือเขตอำนาจศาล ซึ่งหมายถึงเขตทางภูมิศาสตร์หรือเขตทางการปกครอง ยกตัวอย่างพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ศาลแพ่งและศาลอาญา มีเขตตลอดท้องที่กรุงเทพมหานคร นอกจากท้องที่ที่อยู่ในเขตของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัดมีนบุรี และศาลยุติธรรมอื่นตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้ หมายความว่า ถ้าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลใดก็ต้องฟ้องให้ถูกเขตศาล มิฉะนั้น ศาลก็ไม่มีอำนาจรับคดีนั้นไว้พิจารณาพิพากษา

สำหรับศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีปัญหาด้านการพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจศาล เพราะมีศาลเดียวในประเทศไทย

2.อำนาจศาล ซึ่งหมายถึงประเภทของคดี เช่น คดีแพ่งก็ต้องฟ้องที่ศาลแพ่ง คดีอาญาก็ต้องฟ้องที่ศาลอาญา คดีที่มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท ก็ต้องฟ้องที่ศาลแขวง ยกตัวอย่าง พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่งธนบุรี มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งทั้งปวงและคดีอื่นใดที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น เช่น คดีแพ่งที่เกิดในเรือหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักร (ตาม ป.วิ.พ. ม.3 (1))

วรรคสอง บัญญัติว่า ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลอาญาธนบุรีมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น รวมทั้งคดีอื่นใดที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา แล้วแต่กรณี เช่น ความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทย หรือความผิดที่การสอบสวนได้กระทำลงในท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ในเขตของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้น (ตาม ป.วิ.อาญา ม.22 (2))

ส่วนเกี่ยวกับศาลแขวงนั้น พระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 17 บัญญัติว่า ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอำนาจทำการไต่สวน หรือมีคำสั่งใดๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เช่น มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท ทั้งนี้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (5)

เรื่องอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น นับเป็นเรื่องสำคัญมากในการพิจารณาเกี่ยวกับระบบศาลไม่ว่าศาลใด เพราะถ้าผู้ฟ้องหรือผู้ยื่นคำร้องไปยื่นฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาลที่ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในเรื่องนั้นๆ ศาลรับคดีไว้วินิจฉัยไม่ได้ หากพิจารณาในด้านของศาล ก็เป็นเรื่องที่ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น

สำหรับศาลรัฐธรรมนูญซึ่งถูกสถาปนาหรือเกิดมีขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเฉพาะที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจไว้ ได้ตรวจดูโดยละเอียดรอบคอบแล้ว

รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้ ไม่ได้มีบทบัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 และเมื่อตรวจดูบทบัญญัติมาตรานี้ทุกอนุมาตรา ตั้งแต่อนุมาตรา 1 จนถึงอนุมาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว (หมายถึงกระทำตามอนุมาตรา 1 ถึง 6 แล้ว) ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 150 บัญญัติว่า "ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

มาตรา 151 บัญญัติว่า "ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว"

พิจารณาบทบัญญัติทั้ง 3 มาตราซึ่งเกี่ยวกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว จะเห็นว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้อยู่ 3 องค์กรเท่านั้นคือ

1.พระมหากษัตริย์

2.รัฐสภา

3.นายกรัฐมนตรี


บุคคลอื่นหรือสถาบันอื่นนอกจากนี้จึงไม่มีอำนาจที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง และนอกจากจะไม่กล่าวถึงอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และถ้าตรวจดูบทบัญญัติดังกล่าวให้ถี่ถ้วนจะเห็นว่าไม่มีการเว้นช่องว่างของระยะเวลาให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบได้เลย เพราะตามมาตรา 150 บังคับนายกรัฐมนตรีให้ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ปฏิบัติตาม นายกรัฐมนตรีต้องมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จะรอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบหรือส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นเดียวกับร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างข้อบังคับตามมาตรา 155 ไม่ได้เพราะมาตรา 291 ไม่ได้ให้อำนาจไว้เหมือนกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 154 วรรคสอง ที่บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินการ เพื่อประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวข้างต้นจึงต้องยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของรัฐสภาตามมาตรา 291 ข้อสำคัญที่สุดคือ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ซึ่งก็เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ต้องถือว่าร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในพระราชอำนาจที่จะมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าจะทรงลงพระปรมาภิไธยหรือไม่ ฉะนั้น นอกจากจะไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นการมิบังควรที่จะทำการวินิจฉัย ที่สมควรทำคือส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมคืนและไม่รับวินิจฉัย

มีผู้แนะนำให้นายกรัฐมนตรีขอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคืนมาก่อน แต่ผู้เขียนเห็นว่าจะให้นายกรัฐมนตรีขอคืนกลับมาด้วยเหตุผลใด เพราะศาลรัฐธรรมนูญก็มิได้มีคำวินิจฉัยให้เลิกการกระทำ เพราะสั่งไม่ได้เนื่องจากเกินเวลาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่อาจสั่งการ แล้วจะให้นายกรัฐมนตรีบังอาจขอร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวคืนมาทั้งๆ ที่ไม่มีบทบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีทำเช่นนั้นได้หรือ


เรื่องที่เกี่ยวข้อง: ศาลรธน.ชี้‘สุเทพ’ชุมนุมสงบ ไม่รับคำร้อง‘เรืองไกร’ขอให้สั่งยุติ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar