lördag 30 januari 2016

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์..." คนเฮงซวย"????..ในสายตา คสช.



http://prachatai.org/journal/2016/01/63767

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ กับชีวิตลี้ภัยในต่างแดน

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการที่วิจารณ์กองทัพ อย่างเผ็ดร้อน มาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร และวิจารณ์ คสช. เรื่อยมา อาจเป็นเพราะคาแรคเตอร์วิจาณ์แบบตรงไปตรงมา ขี้เล่น และแสบๆ คันๆ ของปวิน จึงทำให้เขาเคยถูก หัวหน้า คสช. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกว่าเป็น “คนเฮงซวย” ครั้งหนึ่ง ระหว่างการถามตอบกับนักข่าว 
 
เขาเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่ถูกคสช. เรียกไปรายงานตัว แต่เนื่องจากเขาไม่ไป จึงถูกออกหมายจับและถูกยกเลิกหนังสือเดินทาง ต่างจากผู้ลี้ภัยการเมืองคนอื่นที่ต้องหนีระหกระเหินหลบหนีออกนอกประเทศและดิ้นรนหางานทำในประเทศใหม่ ปวินนั้นมีตำแหน่งเป็นรองศาสตราจารย์ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโตตั้งแต่ปี 2555 ทำให้ชีวิตลี้ภัยของเขาค่อนข้างสบายเมื่อเทียบกับผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ที่ประชาไทเคยสัมภาษณ์มา 
 
ชีวิตลี้ภัยเป็นอย่างไรบ้าง 
 
โดยรวม ยังสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้ความช่วยเหลือในเรื่องสถานะผู้ลี้ภัย และทำให้ผมสามารถเดินทางได้อีกครั้ง การเดินทางเป็นหัวใจสำคัญในการทำหน้าที่นักวิชาการ เพราะงานผมส่วนใหญ่มันอยู่ต่างประเทศทั้งสิ้น ความช่วยเหลือดังกล่าวมีความจำเป็น เพราะหนังสือเดินทางไทยนั้นถูกยกเลิกไปแล้ว 
 
การมีเครือข่ายกับสถาบันต่างประเทศนั้นก็สำคัญ ผมเพิ่งกลับจากสหรัฐอเมริกามา เป็นการไปทำงานวิชาการล้วนๆ ผมก็รู้สึกขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่น 
 
มหาวิทยาลัยเกียวโตที่ผมทำงานมาตั้งแต่ปี 2555 นั้นก็ให้การสนับสนุนค่อนข้างดี ได้รับการยืนยันจากทางมหาลัยว่า ผมจะได้รับการปกป้อง เพราะมหาลัยก็ทราบว่า นี่คือกรณีกลั่นแกล้งทางการเมือง และผมก็เป็นนักวิชาการ ผมควรมีเสรีภาพทางวิชาการในการวิจารณ์ คสช. 
 
ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็ไม่เคยบอกให้ผมหยุดวิจารณ์คสช. หรืออะไรเลย แต่ผมเองก็คำนึงถึงความจำเป็นที่จะวิจารณ์ในกรอบของบทบาทนักวิชาการเท่านั้น
 
คิดว่า เพราะเหตุใดจึงถูก คสช. เรียกไปปรับทัศนคติ และตามมาด้วยหมายจับเพราะไม่ไปรายงานตัว
 
ผมคิดว่า ไม่ได้เกี่ยวกับบทความชิ้นไหนเป็นพิเศษ แต่เป็นการที่ผมวิจารณ์ทหารอย่างต่อเนื่อง สะสมมาเรื่อยๆ นี้ชี้ให้เห็นว่า เขาเพ่งเล็งผมและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผมมานานแล้ว เขามีรายชื่อผู้ที่ถูกเพ่งเล็งอยู่แล้ว แล้วพอมีรัฐประหารก็ใช้โอกาสนี้มาปิดปากคนเหล่านี้ 
 
มันเป็นสันดานของผมที่ผมเป็นคนตรงไปตรงมา ถ้าใครห้ามผมทำอะไร ผมจะยิ่งทำ เป็นนิสัยส่วนตัว นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของผม ผมสอนรัฐศาสตร์และสอนการเมืองไทย เราก็ควรวิจารณ์กองทัพและสถาบันกษัตริย์ด้วย ในขณะที่นักวิชาการบางคนอาจจำกัดตัวเองไม่ไปวิจารณ์สองสถาบันนี้เพื่อให้อยู่รอด แต่ถ้าผมไม่ทำ ผมถือเป็นการทรยศวิชาชีพของผม แม้ผมจะรู้ว่า จะมีผลกระทบ ผมก็ต้องทำ และตอนนี้ผมก็มาไกลเกินจะถอยหลังกลับแล้ว 
 
เท่าที่สังเกต คุณยังระวัง ไม่ให้คำวิจารณ์ของคุณเข้าข่ายมาตรา 112 เพราะอะไร? 
 
ผมยังทำในกรอบของนักวิชาการ ก็มีการให้ความเห็นส่วนตัวอยู่บ้าง และไม่ทำมากไปกว่านี้ แต่ผมก็เข้าใจคนที่ไปไกลถึงขั้นเรียกร้องให้มีสาธารณรัฐอย่าง อ.สุดา รังกุพันธ์ ก็เป็นบทบาทของเขา 
 
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผม ผมยังเห็นความสำคัญของสถาบันกษัตริย์อยู่ แต่สถาบันจะอยู่รอด เมื่อเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และผมยังมีความหวังในจุดนั้น มันก็ตลก ถ้ามีคนกล่าวหาว่าผมล้มเจ้า คือผมอาจเสนอให้ยกเลิก 112 แต่ก็เป็นไปเพื่อปกป้องสถาบันให้อยู่ยาวนาน ไม่ใช่เพื่อล้มสถาบัน
 
จริงหรือ? หรือว่าคุณเซฟตัวเองเพื่อไม่ให้โดนข้อหา มาตรา 112 ลดเงื่อนไขในการได้กลับประเทศในอนาคต 
 
ไม่ใช่เลยครับ ผมกล้าพูดด้วยสัจจะ การกลับไทยก็สำคัญกับผม แต่ผมก็ทำใจได้ เพราะจริงๆ ผมไม่ได้อยู่ไทยมา 20 ปีแล้ว แม้จะกลับไปบ่อย แต่ก็ไม่ได้อยู่จริงจัง การไกลบ้านของผมเป็นเรื่องชินแล้ว เพราะฉะนั้นผมกล้ายืนยันว่า จุดยืนต่อสถาบันกษัตริย์ของผมไม่ใช่ความพยายามประณีประนอม 
 
มองสถานการณ์เสรีภาพวิชาการไทยว่าอย่างไรบ้าง
 
แย่มากๆ ไม่คิดว่าจะมาถึงจุดตันขนาดนี้ มันเกือบจะเป็นกฎสากล ว่าที่ไหนๆ ก็ต้องให้เสรีภาพทางวิชาการ ไม่งั้นสังคมจะตีบตัน ไม่มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น 
 
ตอนวันที่ 24 พ.ค. ที่ผมโดนเรียก ตอนแรกผมยังคิดว่าเป็นเรื่องโจ๊ก ผมยังคิดว่า เขาคงทำอะไรผมไม่ได้เพราะผมมีสถานะเป็นนักวิชาการ แต่กลายเป็นว่า ผมเองที่ซื่อเกินไป ตอนนั้นผมไม่คิดว่ามันจะเป็นเรื่องจริงจังขนาดนี้ แต่ต่อมามีหมายจับ และพาสปอร์ตของผมถูกยกเลิก 
 
คิดว่า คสช.จะปกครองประเทศอีกนานแค่ไหน
 
คิดว่านาน รัฐประหาร 2557 ต่างจากรัฐประหาร 2549 รัฐประหาร 2549 นั้นมุ่งกำจัดทักษิณ ส่วนรัฐประหารครั้งนี้มุ่งเข้ามาจัดการการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่า จะลากยาวไปนานแค่ไหน ตอนนี้คสช. กำลังโหนความชอบธรรมของรัชสมัยนี้ และฉวยโอกาสจากสุญญากาศทางการเมือง และความวิตกกังวลที่มีต่อการเปลี่ยนผ่าน เขาก็ต้องลากช่วงนี้ออกไปนานที่สุด แต่ในที่สุดก็ไม่มีอะไรอยู่ถาวร เขาต้องอยู่นานพอสมควรเพื่อให้แน่ใจว่า การเปลียนผ่านจะเป็นไปอย่างราบรื่น กองทัพจะต้องทำให้แน่ใจว่า กองทัพจะยังได้รับผลประโยชน์เช่นเดิม แล้วจึงจะลดบทบาทลงมาได้ 
 
ตอนนี้สิ่งที่กองทัพต้องทำควบคู่กันไปคือการวางโครงสร้างการเมืองใหม่ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้แน่ใจว่า พอลงจากอำนาจไปแล้ว ฝ่ายอำนาจเก่ายังได้ประโยชน์ และต้องสกัดกั้นทักษิณได้ด้วย 
 
รัชกาลที่เก้า เป็นรัชกาลที่เรียกได้ว่า ประสบความสำเร็จเกินคาด (magical, overly successful) แต่พอเรามองไปข้างหน้า แล้วพบโดยเปรียบเทียบว่า อนาคตจะให้ประสบความสำเร็จเท่าเดิมหรือดีกว่าเดิมนั้นคงยาก ก็เกิดเป็นความวิตกกังวล การทำรัฐประหาร ก็คือการเข้ามาจัดการความวิตกกังวลตรงนี้ 
 
อะไรคือจุดตายของ คสช.?
 
ผมคิดว่าจะต้องเป็นแรงกดดันภายใน มากกว่าแรงกดดันจากต่างประเทศ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง นี่น่าจะเป็นปัญหาหลักที่นำมาสู่ความตกต่ำของ คสช. คือสังมไทยค่อนข้างไม่ค่อยตื่นตัวทางการเมือง politically passive ถ้าไม่มีไฟลนก้น ก็เฉยๆ ได้ ที่ผ่านมาอาจมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่หลายครั้งซึ่งทำให้มีคนถูกจับ แต่ผมก็ยังไม่เห็นคลื่น หรือกระแสต่อต้านคสช. มันต้องเป็นเรื่องปากท้องนี่แหละ ถึงจะกระทบกับทุกคน ที่อาจทำให้สถานะของ คสช. ง่อนแง่นได้ 
 
มองอนาคตของตัวเองอย่างไร
 
ที่ผ่านมาผมไม่เคยอ้างเลยว่า สิ่งที่ทำ จะขับเคลื่อนว่า จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และผมก็ไม่หวังขนาดนั้นว่าจะขับเคลื่อนประเทศไทยได้ แต่ผมจะทำต่อไป เพราะมันเป็นบทบาทในฐานะนักวิชาการ ผมก็หวังจะได้กลับไทย เพราะครอบครัวผมอยู่่ั่นั่น แต่ถ้าอยู่ไปแล้วต้องไปปิดหูปิดปาก ผมอยู่ข้างนอกแล้วมีเสรีภาพดีกว่า  
 
ผมยังเชื่อว่าสังคมไทยยังมีแสงสว่างทึ่ปลายอุโมงค์ รัชสมัยหน้าอาจเป็นรัชสมัยที่คาดเดาได้ยาก และนำมาสู่ความผันผวน แต่ในความผันผวนนี้ก็อาจมีเรื่องดีก็ได้ (ประชาไทเซ็นเซอร์การวิเคราะห์ต่อไปของปวินเพราะมีความเสี่ยงต่อ มาตรา 112) 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar