söndag 17 januari 2016

Chaturon Chaisang...... ชำแหละร่างรธน. ฉบับกรธ.ชี้ เปิดทางคนนอกนั่งนายกฯ

'จาตุรนต์' ชำแหละร่างรธน. ฉบับกรธ.ชี้ เปิดทางคนนอกนั่งนายกฯ
'จาตุรนต์' ออกโรงชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ กรธ.ทำชาติวิกฤติ สร้างเงื่อนรัฐบาลอ่อนแอ ชี้กำหนดผู้ลงสมัคร ส.ส.ต้องได้เสียงมากกว่าโหวตโน หวังเปิดทางคนนอกนั่งนายกฯโดยไม่ต้องรัฐประหาร...
เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2559 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า เท่าที่ดูเนื้อหาการร่างรัฐธรรมนูญ เห็นได้ว่ามุ่งเน้นจำกัดบทบาทรัฐบาล ทั้งเรื่องนโยบาย การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และเรื่องงบประมาณ ที่นำไปสู่เงื่อนไขรัฐบาลถูกล้มได้โดยง่าย โดยเฉพาะการเลือกตั้งโดยรัฐธรรมนูญใหม่นี้ จะเป็นการเลือกตั้งที่ถูกขัดขวางได้ง่าย โดยไม่ต้องมีการไปล้อมหน่วยเลือกตั้ง หรือที่รับสมัคร เพราะว่ากำหนดไว้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะต้องได้เสียงมากกว่าผู้ที่ไปโหวตโน ทำให้หลายพื้นที่ในประเทศไทย อย่างภาคใต้ และภาคอีสาน ถ้ามีพรรคการเมืองไม่เข้าร่วมการเลือกตั้ง หรือขัดขวางการเลือกตั้ง แล้วรณรงค์ให้โหวตโน ก็จะไม่มีทางได้ผู้แทนราษฎรในเขตนั้น และอาจถึงขั้นไม่มีใครกล้าลงสมัคร เพราะว่าถ้าเขาได้เสียงต่ำกว่าโหวตโน จะลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้อีก
"เมื่อสถานการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญก็จะวินิจฉัยว่า บ้านเมืองเกิดวิกฤติจำเป็นต้องมีรัฐบาลมาบริหารประเทศ เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง จะสามารถลงมติเลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ และอยู่บริหารประเทศอีกนานๆ เท่ากับยึดอำนาจโดยไม่ต้องรัฐประหาร เมื่อมาถึงขั้นนั้น ประชาชนจะได้เห็นว่า รัฐธรรมนูญอย่างนี้เป็นปัญหามาก และรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ได้แล้ว เพราะจะมีการร่างไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญได้อีกแล้ว ก็จะทำให้บ้านเมืองไปสู่วิกฤติ" อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ กรธ.จะกำหนดหากบุคคลใดก็ตาม รวมทั้งครม.รู้เห็นเป็นใจต่อการแปรญัตติเพื่อให้นักการเมือง ส.ส. ส.ว.มีส่วน ได้ส่วนเสียต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณ จะต้องพ้นจากตำแหน่ง หรือครม.อาจต้องไปทั้งคณะ รวมถึงต้องชดใช้เงินด้วยนั้น ความจริงเห็นพูดถึงงบประมาณมาเป็นระยะๆ แล้ว ทั้งในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แต่พูดแค่ปัญหา ไม่พูดถึงการแก้ปัญหาว่า จะมีระบบดูแลอย่างไร เช่น มีคณะกรรมการดูแลไม่ให้มีการแปรญัตติที่กลัวกันหรือไม่ และจริงๆในรัฐธรรมนูญก่อนนี้ก็ห้าม ส.ส.แปรญัตติอยู่แล้ว
การที่รัฐมนตรีจะเอาลงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมากๆ ก็มีการป้องกันอยู่แล้วในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่แล้ว ไม่ให้มีการแก้ไข ถ้าไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม และถ้ารัฐมนตรีคนหนึ่งโยกงบประมาณต้องผิดทั้ง ครม.จะเป็นลักษณะเดียวกันกับ การที่ผิดคนหนึ่งลงโทษทั้งองค์กรอีก สุดท้ายทำให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้เลย รัฐบาลถูกล้มได้ง่าย ถ้ามีความพยายามจับผิดรัฐมนตรีได้คนหนึ่ง ก็ทำให้ล้มไปทั้งรัฐบาล เป็นเงื่อนไขทำรัฐบาลอ่อนแอ บริหารไม่ได้ และอยู่ได้ไม่นาน จะนำไปสู่การที่ผู้ที่ไม่มาจากการเลือกตั้งมาใช้อำนาจแทน ส่วนการตรวจสอบฝ่ายบริหารกรณีที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน มีจำนวนไม่ถึง 1 ใน 5 ในการยื่นญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ กรธ.เปิดช่องให้ขอเปิดอภิปรายได้โดยไม่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ แต่เป็นการยื่นอภิปรายเพื่อให้ ครม.หรือนายกฯได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและชี้แจงปัญหา เช่นเดียวกับ ส.ว.ก็มีสิทธิยื่นเปิดอภิปรายครม.นั้น
อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเคยเปิดให้มีการอภิปรายง่าย โดยไม่มีเงื่อนไขอะไร แล้วก็พบว่า ทำให้ฝ่ายค้านเอาเรื่องที่เป็นเท็จมาใส่ร้ายผู้ถูกอภิปราย ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ จึงกำหนดถ้าจะอภิปราย เพราะเชื่อว่ามีการทุจริต หรือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ จะต้องยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ถ้าเหตุไม่พอ ก็ไม่สามารถอภิปรายได้ ดังนั้น ถ้า กรธ.จะเปิดอภิปรายได้ง่ายขึ้น ต้องมาดูว่าจะเป็นประโยชน์กับใครกันแน่ มาทำให้รัฐบาลในสภาพที่ไม่ต้องทำอะไรเสียมากกว่า.


Inga kommentarer:

Skicka en kommentar