ทักษิณ ชินวัตร - วิกิพีเดีย
https://th.wikipedia.org/wiki/ทักษิณ_ชินวัตร
ดร. ทักษิณ ชินวัตร (อักษรโรมัน: Thaksin Shinawatra; จีน: 丘達新; พินอิน: Qiū Dáxīn, เกิด: 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492) เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2544 ถึง 2549 และเป็นพี่ชายของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 28 เคยเป็นนักธุรกิจโทรคมนาคมและการสื่อสาร ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทโทรคมนาคมและการสื่อสารขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย[2] อดีตข้าราชการตำรวจ (ชั้นยศสูงสุดที่ พันตำรวจโท) อดีตเจ้าของและประธานสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแห่งประเทศกัมพูชา สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน และอดีตที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา มีสัญชาติไทยโดยการเกิด เคยถือสัญชาตินิการากัว[3][4] ปัจจุบันถือสัญชาติมอนเตเนโกร[5]
พ.ศ. 2537 ทักษิณ เข้าสู่วงการเมือง สังกัดพรรคพลังธรรม โดยการชักนำของ พลตรี จำลอง ศรีเมือง ต่อมาจึงก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ. 2541 และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 ซึ่งพรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากในสภา จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรก สำหรับงานการเมือง ทักษิณใช้หนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ก่อนกำหนดเดิม[6] และดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อลดความยากจนในชนบท โดยสามารถลดความยากจนได้ถึงครึ่งหนึ่งภายในสี่ปี[7][8] ริเริ่มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นครั้งแรกของประเทศ คือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค[9] ตลอดจนการกวาดล้างยาเสพติด ซึ่งทั้งหมดช่วยให้เขามีความนิยมอย่างสูง[10] ทักษิณเริ่มดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ รวมทั้งถนน การขนส่งมวลชน และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หนี้สาธารณะลดลงจากร้อยละ 57 ของจีดีพี ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 เหลือร้อยละ 41 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549[11][12] รวมทั้งระดับการฉ้อราษฎร์บังหลวงลดลง โดยดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เพิ่มขึ้นจาก 3.2 เป็น 3.8 ระหว่าง พ.ศ. 2544 และ 2549[13] ทักษิณดำรงตำแหน่งจนครบวาระสี่ปี นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งดำรงตำแหน่งจนครบวาระเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ และจากผลการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 ทำให้ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ด้วยคะแนนเสียงสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์[14][15]
อย่างไรก็ดี มีผู้กล่าวหารัฐบาลทักษิณหลายประการเช่น ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นเผด็จการรัฐสภา มีผลประโยชน์ทับซ้อน ดำเนินการไม่เป็นอย่างการทูต และควบคุมสื่อ[16] ส่วนข้อกล่าวหาไปยังทักษิณเอง ก็มีว่าหลีกเลี่ยงภาษี หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตลอดจนขายทรัพย์สินของบริษัทไทย ให้แก่นักลงทุนต่างชาติ[17][18] องค์การนิรโทษกรรมสากลวิจารณ์ทักษิณว่า มีประวัติเชิงสิทธิมนุษยชนไม่สู้ดี และเขายังถูกกล่าวหาว่า ปกปิดทรัพย์สินระหว่างดำรงตำแหน่งการเมือง[19] หลังเกิดรัฐประหาร ทักษิณยังคงเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งติดอันดับเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ที่ต้องใช้ชีวิตในเรือนจำ หรืออยู่ระหว่างหลบหนีคดีความ[20] ฟอรีนพอลิซี ยกตัวอย่างว่า เขาเป็นอดีตผู้นำของโลกที่ประพฤติไม่ดี[21]
การประท้วงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2549 และวันที่ 19 กันยายน ปีเดียวกัน คณะทหารซึ่งภายหลังเรียกตนเองว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รัฐประหารล้ม รัฐบาลทักษิณ ขณะที่ ทักษิณปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ต่อมาศาลที่คณะทหารแต่งตั้งนั้น ตัดสินยุบพรรคไทยรักไทยด้วยข้อหาโกงการเลือกตั้ง พร้อมทั้งเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ทักษิณและกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เป็นเวลาห้าปี[22] คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ คมช.แต่งตั้งขึ้น อายัดทรัพย์ของ ทักษิณและครอบครัวในประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 76,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าเขาร่ำรวยผิดปกติ ขณะอยู่ในตำแหน่ง[23][24] ทักษิณและภรรยา ประกาศทรัพย์สินรวม 15,100 ล้านบาท เมื่อเขาเข้าดำรงตำแหน่งใน พ.ศ. 2544 แม้เขาจะโอนทรัพย์สินจำนวนมาก ไปยังบุตรและคนสนิท ก่อนเข้าดำรงตำแหน่งก็ตาม[25]
ทักษิณ เคยเดินทางกลับประเทศไทยครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 หลังพรรคพลังประชาชนที่เขาสนับสนุน ชนะการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร แต่หลังจากเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ทักษิณ ไม่เดินทางกลับประเทศไทย เพื่อฟังคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และขอลี้ภัยในสหราชอาณาจักรแต่ ถูกปฏิเสธ เขาจึงเดินทางข้ามไปมาหลายประเทศอยู่พักหนึ่ง หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม ศาลคดีการเมืองตัดสินจำคุกทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี จากคดีทุจริตประมูลซื้อที่ดินรัชดาภิเษก[26] ทักษิณเป็นผู้สนับสนุน และมีการมองว่า เป็นผู้ให้การสนับสนุนเงินทุน อยู่เบื้องหลังกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) [27][28] ในปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลอภิสิทธิ์เพิกถอนหนังสือเดินทางของ ทักษิณ โดยอ้างว่ามีบทบาทในกลุ่ม นปช.ระหว่างเหตุการณ์ไม่สงบช่วงสงกรานต์[29][30][31] ศาลคดีการเมืองวินิจฉัย ให้ทรัพย์ของ ทักษิณและคนใกล้ชิด มูลค่าราว 46,000 ล้านบาท จากที่ คตส.อายัดไว้ 76,000 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
หัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งเรียกตนเองว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งให้ใช้อำนาจของตน ตามบทบัญญัติในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เพื่อให้ถอดยศ "พันตำรวจโท" ของ ทักษิณเสีย โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2558 และให้มีผลในวันถัดไป[32]
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar