torsdag 6 oktober 2016

การจัดงานรำลึก 6 ตุลากับการเผชิญหน้ากับความจริง

 
Somsak Jeamteerasakul
การจัดงานรำลึก 6 ตุลากับการเผชิญหน้ากับความจริง (1)
ผมไม่ค่อยชอบการจัดงานรำลึก 6 ตุลา ยิ่งในปีแรกๆ (ราวสิบปีแรก) ที่มีการจัดกัน ยิ่งไม่ชอบ ด้วยเหตุผลใหญ่ 2 อย่าง (เหตุผลที่ไม่ชอบการจัดงานโดยเฉพาะช่วงสิบปีแรก เป็นเหตุผลอย่างที่สองเสียเยอะ ซึ่งจะเขียนในกระทู้หน้า)
อย่างแรกเป็นเหตุผลส่วนตัว หรือเฉพาะตัวของผมเอง ซึ่งผมไม่อยากหรือไม่สามารถอธิบายมากนัก เพียงขอกล่าวสั้นๆ ว่า
(ก) มีคำฝรั่งที่รู้จักกันดีว่า Everyone grieves differently การจัดงานไม่ใช่รูปแบบ grieving ที่ผมชอบ
(ข) People sometimes - or often - remember the same event differently อันนี้ผมพูดเอง เรื่องนี้ก็อธิบายยากเช่นกัน เอาเป็นว่า เมื่อครู่ผมเอาบทความรำลึกเหตุการณ์เช้าวันนั้นของธงชัย ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "สารคดี" เมื่อ 20 ปีก่อน มาอ่านใหม่บางตอน (ผมไม่เคยสามารถอ่านบทความรำลึกเหตุการณ์นั้น ไม่ว่าของใคร ได้หมดทั้งบทในครั้งเดียว) ความจริงตอนบทความนั้นตีพิมพ์ครั้งแรก ผมเคยเขียนแย้งบางประเด็นไปนิดหน่อย ("สารคดี" ตีพิมพ์ข้อเขียนแย้งของผมในคอลัมภ์จดหมายฉบับต่อมา ถ้าจำไม่ผิด) อ่านใหม่เมื่อครู่ รู้สึกเซอร์ไพรซ์เหมือนกัน ที่ความจำของเราเรื่องนาทีสุดท้าย (หรือชั่วโมงสุดท้าย) ที่เวทีเช้าวันนั้น ต่างกันเยอะเหมือนกัน
แต่ความจำไม่เหมือนกันพวกนี้ โดยส่วนตัว ผมก็ถือเป็นเรื่องส่วนตัว (พูดแบบนักวิชาการผมรู้ว่า มันไมใช่เรื่องส่วนตัวจริงๆ แต่เฉพาะกรณี 6 ตุลา นี่เป็นอะไรที่เป็นส่วนตัวสำหรับผม) และไม่เคยซีเรียสที่จะเขียนว่าตัวเองจำว่าอะไร ต่างจากคนอื่นอย่างไร (ถ้าผมจำไม่ผิด คราวที่ผมแย้งไปที่ "สารคดี" ผมก็เขียนไม่หมดที่เป็นความจำที่แตกต่างกัน เพราะไม่มีใจอยากจะเขียนให้หมด)
เรื่องจำไม่เหมือนกันนี้ ก็เช่นเดียวกับและเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลในลักษณะส่วนตัวของการไม่ชอบงานรำลึกในลักษณะนี้ (ที่ผมเขียนมาข้างต้นแบบสั้นๆคลุมเครือๆ เพราะไม่อยากเขียน) ผมถือเป็นอะไรที่เป็นส่วนตัว และไม่เคยคิดจะอภิปรายสาธารณะอย่างเต็มที่หรือซีเรียส
แต่ผมมีเหตุผลของความไม่ชอบการจัดงานแบบนี้อยู่อีกอย่าง ซึ่งเป็นลักษณะเหตุผลเชิงการเมือง (หรือจะเรียกเป็นปัญหาเชิง"วิชาการ" ก็ได้ ถ้าจะเรียก) ซึ่งจะอธิบายในกระทู้หน้า
...........
ความจริงกระทู้นี้ เดิมคิดมาหลายวันจะเขียนเป็นกระทู้เดียว แต่เขียนจริงๆ ไม่ไหว เฉพาะที่เขียนข้างบนก็ใช้เวลาและพลังงานเยอะ
 
 การจัดงานรำลึก 6 ตุลากับการเผชิญหน้ากับความจริง (2) ปัญหาความรับผิดชอบของสถาบันกษัตริย์และปัญหาขบวนนักศึกษากับ พคท
การจัดงานรำลึก 6 ตุลากับการเผชิญหน้ากับความจริง (2)
ปัญหาความรับผิดชอบของสถาบันกษัตริย์ และปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างขบวนนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
...............
ในที่สุดแล้ว สังคมไทยจะยอมรับและจัดการอย่างถูกต้อง (come to terms) กับ 6 ตุลาได้ ทุกฝ่ายจะต้องพร้อมเผชิญหน้ากับความจริง 2 เรื่องสำคัญ คือ
หนึ่ง ความจริงที่ว่าสถาบันกษัตริย์คือองค์กรรัฐที่มีความรับผิดชอบทางการเมืองและทางคุณธรรม (political and moral responsibility) มากที่สุดต่อการนองเลือดที่เกิดขึ้น
และ
สอง ความจริงที่ว่าขบวนนักศึกษาในขณะนั้น อยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท) และมีทิศทางการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติแบบ พคท
..............
ทำนองเดียวกับกรณี 2553 การยอมรับความจริงที่ว่ามีกำลังติดอาวุธของเสื้อแดงบางส่วน และกรณีปี 2556-57 ที่ว่าฝ่ายเสื้อแดงใช้อาวุธโจมตี กปปส (ที่มีผลทำให้คนไม่เกี่ยวข้องรวมทั้งเด็กเสียชีวิต) หรือความผิดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์กรณีเหมาเข่ง ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างความชอบธรรมให้กับการใช้ทหารปราบปรามทำให้มีประชาชนเสียชีวิตเป็นร้อยและบาดเจ็บนับพัน และไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร 2557
การที่ขบวนนักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนปฏิวัติ พคท ก็ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างความชอบธรรมให้กับการฆ่าหมู่นองเลือด 6 ตุลา และความรับผิดชอบทางการเมืองและทางคุณธรรมของสถาบันกษัตริย์ต่อเหตุการณ์นั้นได้
..............
อ่านกระทู้ "การจัดงานรำลึก 6 ตุลากับการเผชิญหน้ากับความจริง (1)" ได้ที่นี่ goo.gl/c02Jhb

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar