กองทัพในวันที่ใกล้บรรลุวุฒิภาวะ

ในประเทศที่ประชาธิปไตยพัฒนาแล้ว กองทัพจะแยกออกจากการเมืองแทบจะเด็ดขาด ซึ่งพบได้ในประเทศส่วนใหญ่ในทวีปยุโรป หรือประเทศนอกยุโรป อย่างเช่น อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมถึงอินเดีย เป็นต้น อินเดียนี้น่าสนใจยิ่ง เพราะประเทศมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษาสูงมาก แต่อินเดียไม่เคยมีรัฐประหารเลย ทำให้เกิดความคิดว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะยอมรับว่าประเทศไทยมีความเป็นพหุสังคมไม่แพ้ประเทศอินเดีย ซึ่งความเป็นกลางของกองทัพสำคัญต่อความเป็นปึกแผ่นและความอยู่รอดของประเทศ
ส่วนในประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่พัฒนา เราจะเห็นกองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมืองเสมอ ซึ่งพบได้ในประเทศพม่า เกาหลีเหนือ กลุ่มประเทศลาตินอเมริกาและแอฟริกา รวมถึงไทยเรา และประเทศไทยวันนี้กำลังจะไปไกลกว่าประเทศในกลุ่มนี้โดยมีความพยายามสร้างกระแสเพื่อบอกว่าการรัฐประหารเป็นประเพณีทางการเมืองปกติของไทยที่สังคมไทยควรยอมรับ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเส้นทางไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบที่สมบูรณ์ในประเทศไทยยังอีกยาวนาน โดยจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของกองทัพไทยนั่นเอง
มาวันนี้กองทัพไทยได้แสดงแล้วว่ากองทัพได้กลับมาเป็นตัวของตัวเอง ได้ปฏิเสธใบสั่ง พร้อมทั้งแสดงจุดยืนที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุดในระยะยาว คำถามคือมีอะไรที่ดลใจให้กองทัพเลือกที่จะเป็นกลางมากที่สุดในสถานการณ์วันนี้และควรจะเป็นในวันต่อๆ ไป
ประเด็นที่พอจะวิเคราะห์ได้คือการรัฐประหารไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้อีกต่อไปในสถานการณ์ที่คนไทยมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันแบบ 2 ขั้วในปัจจุบัน และความเสี่ยงที่การรัฐประหารอาจจะไม่ประสบความสำเร็จหรือแม้สำเร็จก็ยากลำบากในการรักษาความสงบของประเทศ
อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นไปได้คือความผิดพลาดด้านนโยบายที่ส่งผลให้ศักยภาพของกองทัพในภารกิจป้องกันประเทศ (ศัตรูนอกประเทศ) ถดถอยลง เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศได้กลายเป็นภารกิจหลักของกองทัพ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการต่อสู้กับคนไทยด้วยกันเองกำลังจะกลายเป็นงานหลักของกองทัพ ในขณะที่กองทัพถูกออกแบบมาเพื่อต่อสู้กับศัตรูนอกประเทศ แต่ภัยคุกคามจากนอกประเทศดูจะลดลงทุกขณะ โดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนยิ่งทำให้การหาศัตรูเพื่ออ้างเหตุผลคงกองทัพให้มีขนาดใหญ่และมียุทโธปกรณ์ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาจึงกลายเป็นคำถาม
นอกจากนี้ การรักษาความสงบเรียบร้อยโดยการต่อสู้กับคนไทยด้วยกันย่อมไม่สร้างความภาคภูมิใจให้หมู่ทหารระดับล่าง และการสั่งฆ่าประชาชนอาจเป็นคำสั่งที่ผิดกฎหมาย ผิดมโนสำนึก ที่ทหารระดับล่างอาจปฏิเสธได้ ซึ่งต่างจากการหันหลังให้อริราชศัตรู โดยเฉพาะในกรณี worst case scenario ที่กองทัพต้องออกไปรักษาความสงบเรียบร้อยในภูมิภาคโดยการกระจายกำลังเป็นหน่วยทหารขนาดเล็กไปตามจุดต่างๆ ที่ห่างไกลกรุงเทพ ทหารระดับล่างที่ไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว อาจปฏิเสธคำสั่งและหันไปเข้าร่วมกับพี่น้องของตนในพื้นที่โดยนำอาวุธที่ติดตัวไปด้วย ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น ซึ่งภาพแบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในยุคการล้มสลายของยูโกสลาเวีย
ดังนั้นการใช้การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศมาเป็นภารกิจหลักสำคัญและเป็นข้ออ้างในการคงขนาดและงบประมาณของกองทัพจึงเป็นข้ออ้างที่ผิดพลาดเพราะไม่สามารถทำได้จริง เช่น การจะจับหรือสังหารคนไทยด้วยกันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีกฎหมายที่ซับซ้อนมารองรับ และการปราบปรามประชาชนย่อมทำให้ผู้ที่ถูกปราบมองว่าทหารเป็นศัตรูของตนอยู่วันยังค่ำ เหตุการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้จึงเป็นบทเรียนสำคัญ
ดังนั้นจะปล่อยให้กองทัพคงกำลังคนและงบประมาณจำนวนมากโดยอ้างภารกิจหลักที่ทำไม่ได้จริงในทางปฏิบัติจึงเป็นคำถามที่คนไทยผู้เสียภาษีทุกคนควรตั้งคำถาม แต่เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ การคงสภาพเดิม (คน+งบประมาณ) ของกองทัพไว้เพื่อแลกกับความเป็นกลางและการบรรลุวุฒิภาวะของกองทัพจึงยังคุ้มค่าอยู่สำหรับชาวไทยผู้เสียภาษีทุกคน...

(คำถามมีอยู่ว่าทหารวางตัวเป็นกลางจริงหรือไม่ ?  จากเหตุการณ์ที่นายสุเทพ และพวกร่วมกันก่อกบฎทำลายชาติอยู่ในเวลานี้ ผู้นำฝ่ายทหารตั้งแต่ ผบทบ.ได้ประกาศตัวเข้าข้างฝ่ายกบฎอย่างเห็นได้ชัดโดยการเปิดเวทีเสวนาให้แก่ฝ่ายกบฎตามคำสั่งของใคร ?เพราะรัฐบาลไม่ได้สั่ง ซึ่งมันไม่ใช่หน้าที่ของทหาร และการทำเช่นนั้นแสดงให้เห็นว่าทหารไม่ได้วางตัวเป็นกลางอย่างที่ผู้เขียนกล่าวอ้าง นอกจากนั้นยังมีข้อมูลอย่างชัดเจนแสดงให้เห็นว่าฝ่ายทหารกำลังเตรียมยึดอำนาจ ...แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่สามารถทำได้ ฉนั้น ผู้เรียบเรียงเองและประชาชนส่วนใหญ่ยังรู้ชัดแจ้งว่าทหารกำลังเล่นการเมืองและยังทำตัวไม่เป็นที่หน้าเชื่อถือของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ  เพราะไม่ได้วางตัวเป็นกลางจริงและไม่ได้อยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมา ไม่ได้รักษาผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนที่เสียภาษีเลี้ยงดูทหารเหล่านั้นมาทหารทำตัวเป็นเครื่องมือรับใช้พวกอำมาตย์ไม่ได้รับใช้ประชาชน นอกจากนั้นยังฆ่าประชาชนนับเป็นร้อยศพในปี ๒๕๕๓ที่ใจกลางเมืองหลวงและทหารก็ไม่ได้สนับสนุนให้ประเทศชาติมีประชาธิปไตยโดยไปเข้ากับฝ่ายกบฎที่ต่อต้านประชาธิปไตย ...

โดย แสงตะวัน )