måndag 16 december 2013

เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่ครั้งแรก ใครรับผิดชอบ ? ขอให้เป็นครั้งสุดท้ายที่พี่น้องเพื่อนร่วมชาติผู้บริสุทธิ์ถูกนักการเมืองและแกนนำพามาร่วมชุมนุมแล้วถูกทำร้ายบาดเจ็บเสียชีวิต หยุดได้แล้วปรับตัวให้ทันต่อเหตุการณ์ช่วยกันคิดหาหนทางการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยกว่านี้ได้ไหม? ถึงพี่น้องเพื่อนร่วมชาติที่รักชาติรักประชาธิปไตย พวกท่านไม่จำเป็นต้องเดินทางมาไกลถึงกรุงเทพฯแล้วถูกเขาทำร้ายทั้งร่างกายและเสียกำลังใจเสียความรู้สึก ให้พี่น้องเพื่อนร่วมชาติโปรดตั้งสติช่วยกันคิดทบทวนเรื่องราวความจริงที่ผ่านมาทั้งหมด แล้วนำมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าพวกท่านได้อะไรที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นที่หมู่บ้านชุมชนของพวกท่านช่วยกันตั้งคำถามแล้วหาคำตอบว่าการรักชาติรักประชาธิปไตยคืออะไร?สำรวจดูว่าชีวิตความเป็นอยู่ของพวกท่านในสังคมเป็นอย่างไรยังขาดแคลนต้องการอะไร?แล้วท่านจะได้คำตอบประชาธิปไตยคือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันรอบๆตัวท่านเองไม่ต้องวิ่งไปหาที่กรุงเทพฯ เริ่มต้นสำรวจที่ตัวเองก่อนแล้วต่อไปชุมชนที่อยู่อาศัย หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด สุดท้ายส่วนรวมทั้งประเทศ สำคัญพี่น้องเพื่อนร่วมชาติต้องคิดเองอย่าให้คนอื่นชี้นำคิดแทนท่าน ชัยชนะเป็นของประชาชน ประชาชนจงเจริญ...


ขอเชิญชวนทุกท่านอ่านบทความข้างล่างนี้โดยตั้งสติเปิดใจให้กว้างอ่านทบทวนหลายๆครั้ง
แล้วคิดทำความเข้าใจแล้วหาคำตอบให้ตัวเองกับคำว่า-  ความรักชาติ  รักประชาธิปไตย  
ความถูกยัดเยียดกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันสถาบัน......

คลิปจาก ThaiE  -  News
http://www.youtube.com/watch?v=5ENZltFE9_w&feature=player_embedded


มีการแชร์คลิปวิดีโอของผู้ใช้ชื่อว่า You Clip (รวมคลิป) จำนวน 11,678 แชร์ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.56
ดูเผินๆ เหตุการณ์นี้ไม่น่าจะมีอะไร เป็นการเปิดโปงความจริงจากปากคำของหญิงสองคนที่นั่งยองๆ ท่ามกลางวงล้อมของชายฉกรรจ์ เพียงแต่บังเอิญว่าผู้หญิงหนึ่งในนั้นเป็นสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) ระดับนำของคนเสื้อแดงในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี

มีผู้คนรู้จักเธออยู่ไม่น้อย หลายคนเกิดความงุนงงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุใดเธอจึงพูดเช่นนั้น ความพยายามติดต่อเธอเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากทั้งนักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว ฯลฯ แต่เธอไม่รับโทรศัพท์ของใครทั้งสิ้น จนกระทั่งเหตุการณ์ผ่านไปหลายวัน จึงสามารถติดต่อเธอได้

การพูดคุยกันทำให้ทราบถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายที่กระทำต่อผู้ชุมนุม แม้ความรุนแรงจะเกิดขึ้นเพียง 2 วัน 1 คืน สื่อมวลชนรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ผู้มีสถานะทางสังคมที่ออกมาให้ความเห็นต่อเหตุการณ์นี้ แต่สิ่งที่มองไม่เห็นคือ ความรุนแรงย่อยๆ ที่เกิดขึ้นกับคนที่ไม่มีปากมีเสียง มันเป็นภาพสะท้อนอันโหดร้ายและน่าสะพรึงกลัวท่ามกลางความแตกแยกที่มีอยู่ขณะนี้ และไม่มีใครรับประกันได้ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีก กระทั่งลุกลามหนักหน่วงกว่านี้

คำแสน ไชยเทพ วัย 43 ปี คือหญิงที่ปรากฏในภาพ เธอเป็นคนเสื้อแดงตั้งแต่ปี 2551 ในเหตุการณ์ปี 2553 ลูกชายของเธอถูกจับกุมในคดีเกี่ยวกับการชุมนุมเมื่อปี 2553 ต่อมาเธอได้รับเลือกเป็น สมาชิกสภาจังหวัดอุดรธานี ประชาไทโทรศัพท์สัมภาษณ์เธอเพื่อสอบถามถึงเหตุการณ์ในวันดังกล่าว

คำแสนเล่าว่า เธอเดินทางพร้อมชาวบ้าน ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เพื่อมาร่วมชุมนุมกับ นปช.โดยว่าจ้างรถตู้จำนวน 8 คันในราคารถปิกอัพเนื่องจากคนขับรถตู้เองก็อยากมาร่วมชุมนุมด้วย พวกเขาเดินทางมาถึง กทม.ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 30 พ.ย. และเข้าร่วมชุมนุมในสนามกีฬาตามปกติ กระทั่งตอนเย็นที่เริ่มเกิดเหตุปะทะกัน เธอก็อยู่ภายในสนามกีฬา

เธอเล่าว่า คนในสนามมีจำนวนพอสมควร ทุกคนที่นั่งอยู่รู้ว่าเกิดความรุนแรงขึ้นภายนอก แต่บนเวทีไม่ค่อยมีการพูดเรื่องนี้ ซึ่งเธอคิดว่าเป็นเพราะแกนนำคงกลัวมวลชนจะตื่นตกใจ ขณะเดียวกันก็มีการประกาศห้ามคนในสนามออกไปด้านนอกด้วย
“สงสารคนกรุงเทพฯ มาก เขากลับไม่ได้ เราคนต่างจังหวัด เราเคยมาค้าง เราอยู่ได้ แต่คนกรุงเทพฯ ที่มา หน้าตาดีๆ อดหลับอดนอน ออกมาไม่ได้ อยู่กันจนสว่าง พวกเราที่ไปด้วยกันก็ไม่มีใครออกมาเพราะกลัว แต่มีคนเทียวออกมาเอาของที่รถตู้อยู่ การ์ดบอกให้หลบกระสุน ก็เห็นเขายิงกัน เห็นเขาหามคนเจ็บกันอยู่ แต่ไม่คิดว่าใครจะเสียชีวิต รถตู้ที่เราเอาไปจอดอยู่ที่ชั้น 2 ก็เพิ่งรู้คืนนั้นแหละว่า นั่นรามคำแหง ยังคิดว่า โห ทำไมมันใกล้กันจัง กำแพงเตี้ยๆ เอง”
จนถึงตอนเช้า แกนนำประกาศให้รอตำรวจมารับ ผู้คนในสนามรอคอยกันอยู่เป็นเวลานานก็ยังไม่เห็นวี่แววตำรวจ ในขณะที่อาหารและน้ำดื่มขาดแคลนตั้งแต่เมื่อคืน ห้องน้ำเต็ม ไม่สามารถใช้การได้ ทำให้คนจำนวนหนึ่งทยอยออกจากสนามเอง เมื่อเห็นดังนั้น คำแสนและพรรคพวกจึงออกมาขึ้นรถตู้เพื่อออกจากสนามกีฬา โดยนัดแนะกันว่าจะเลี้ยวขวาไปรอกันที่ปั๊มเชลล์ซึ่งอยู่ไม่ไกลแล้วจะยูเทิร์นกลับรถเพื่อเดินทางกลับบ้าน  รถตู้ 5 คันแรกดำเนินการได้ตามนั้น แต่มี 3 คันที่ยังติดค้างอยู่จนกระทั่งเกิดเหตุ

นาทีชีวิต ความผิดพลาดของ “การเข้าห้องน้ำ” และ "GPS"
“คันอื่นเขายูเทิร์นไปแล้ว แต่อีกสามคันยังออกไม่ได้ เพราะรอชาวบ้านเข้าห้องน้ำ ตอนจอดรถรออยู่ก็เอะใจแล้ว ความรู้สึก สัญชาตญาณของเรารู้สึกว่าไม่ใช่แล้วล่ะ ชาวบ้านไม่รู้ว่าสถานการณ์อย่างนั้นไม่ควรไปเข้าห้องน้ำ แต่เขาก็ลงไป มอเตอร์ไซด์ก็จ้องแล้ว เราก็บ่นกันอยู่ว่าทำไมต้องไปเข้าห้องน้ำในสถานการณ์แบบนี้ ก็โมโหให้ชาวบ้านอยู่ เขาก็บอกว่าเขาทนไม่ไหวในนั้น (สนามกีฬา) ห้องน้ำมันเต็ม บ่นไม่ทันขาดคำ มอเตอร์ไซด์ก็มาวนรอบรถตู้แล้ว ประมาณ 3-4 คัน ใจคอไม่ดีแล้ว เรารู้เลยว่ามันผิดปกติ”
เธอไล่ชาวบ้านขึ้นรถ โดยเธอและผู้ใหญ่กองชัย ผู้เป็นสามีขึ้นรถตู้คันสุดท้าย รถตู้ทั้งสามคันยูเทิร์นกลับและขับเกาะกลุ่มกัน แต่คันที่ออกก่อนหน้าไม่ขับตรงไป กลับเลี้ยวซ้ายไปทางด้านหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะคนขับไม่รู้ทางในกรุงเทพฯ และขับตามที่จีพีเอสบอก
“เราก็ตกใจ เรามาชุมนุมบ่อยก็รู้แล้วว่ามันไม่ใช่แล้ว ไปถึงก็เห็นรถคันเหลืองๆ ที่ถูกทุบ โทรไปหารถตู้คันหน้าให้หันกลับด่วน แต่มันไม่ทันแล้ว มอเตอร์ไซด์มันเริ่มวนมาแล้ว จะกลับมาก็ไม่ได้ มันล้อมหมดไม่รู้กี่คันต่อกี่คัน ไปไม่ได้แล้ว มีคนซัก 50 คนขวางอยู่”
“พวกนั้นเข้ามาทุบประตูให้เปิดออก ถามว่าเราเป็นเสื้อแดงไหม รถคันหน้าเปิดประตู ประสบการณ์เราในการชุมนุมเรารู้แล้วนี่ไม่ใช่คนของเรา แต่เราก็บอกไม่ได้มันนั่งรถตู้คนละคัน มาด้วยกันก็ต้องไปด้วยกัน เขาเปิดประตู พวกนั้นมีมีด ปืนสั้น ค้อน มีทุกอย่าง เขาเอาไม้เหมือนไม้หน้าสาม ไม้กอล์ฟทุบรถคันแรก เอาระเบิดปิงปองโยนเข้าในรถจนมีคนบาดเจ็บ รถยังเป็นรอยอยู่ แล้วก็เอาไม้กอล์ฟฟาดที่แขนของป้าคนที่โดนระเบิดปิงปองด้วย เอาไม้กระทุ้งท้องผู้ชายอีกคน แต่รถคันนั้นสุดท้ายก็พยายามประคองขับรถไป รอดไปได้”
ภาพรอยช้ำบริเวณแขนและขาของนาง คำแสน ไชยเทพ อายุ 43 ปี
(ถ่ายเมื่อ 3 ธ.ค.56)
“แต่อีกสองคันไปไม่ได้ คันข้างหน้ามันเลี้ยวไปผิดซอย เป็นซอยตัน ไปไหนไม่ได้ เขาก็วิ่งตาม ร้อง “ฆ่ามันๆ” พวกเราก็วิ่งลงจากรถตู้สองคัน ตัวพี่ ผู้ใหญ่ และป้าอีกคนหนึ่งแยกไปซ่อนอยู่ที่บ้านหลังใหญ่หน่อย เขาล็อคประตู คนอื่นๆ ไปไหนก็ไม่รู้ เราไปซ่อนตัว ได้ยินเสียงมันทุบรถ ในใจคิดว่าเราไม่รอดแล้วแหละ พยายามโทรหาผู้ใหญ่ โทรหา ส.ส. แต่โทรไม่ติด เพิ่งรู้ว่า ส.ส.แบตหมด ก็เลยโทรหา ส.จ.อีกคนหนึ่งที่มาด้วยกัน เขาก็ตกใจ เราบอกว่าช่วยหน่อย ตกอยู่ในอันตราย ตอนนั้นแบตเตอรี่เรามีค่ามาก อยู่ชุมนุมสองวันจนมันเหลือน้อยเต็มที ต้องการโทรหาผู้ใหญ่ให้ช่วยเรา ทาง ส.ส.อุดรก็ประสานให้ ไม่รู้ว่าใครโทรมาบ้าง จนมีผู้ใหญ่โทรมา เขาถามว่าอยู่ไหนก็บอกว่าไม่รู้ เราก็ไม่รู้จริงๆ ไม่รู้ว่าที่ไหน ก็บอกเขาว่ามันมีห้องเช่า มีคอนโด แต่ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นซอยไหน แม้แต่หน้ารามหลังรามก็ยังไม่รู้เลย เพิ่งมารู้ตอนหลัง สุดท้ายก็บอกเขาว่ามาซอยไหนก็ได้จะเห็นรถตู้จอดทิ้งอยู่ เขาก็บอกว่าตำรวจเข้าไม่ได้ อ้าว ถ้าตำรวจเข้าไม่ได้จะทำยังไง คน 20 กว่าคนนี่จะปล่อยให้เขาตายหรือ”
เธอเล่าว่า เธอหลบอยู่นานกับสามีและป้าอีกคนหนึ่ง จนกระทั่งตัดสินใจให้สามีข้ามไปขอความช่วยเหลือจากบ้านอีกหลังหนึ่ง โดยเธอกับป้าจะรออยู่ที่เดิม เนื่องจากคิดว่ากลุ่มชายฉกรรจ์จะไม่ทำร้ายผู้หญิงสูงวัย สามีของเธอไปขอความช่วยเหลือจากบ้านฝั่งตรงข้าม
“ตอนนั้นได้ยินคนในบ้านเขาถามกันว่าใครเหรอ พอผู้ใหญ่กองชัยบอกว่าเป็นเสื้อแดง เขาก็บอกว่า เสื้อแดงเหรอ ฆ่ามันเลยๆ เราก็เลยพูดกับป้าว่า เราไม่ต้องไปหรอก ไปเราก็ตาย ไม่ไปเราก็ตาย เราเอาเวลาสวดมนต์ดีกว่า สุดท้ายมันก็ตามเจอ แต่พอมันมาถึงก็ไม่เห็นผู้ใหญ่ปองชัยแล้ว”
รู้จักประชาธิปไตยไหม จงรักภักดีไหม
ก่อนหน้าที่จะถูกจับได้ เธอทำลายบัตร ส.จ.และนัดแนะกับป้าที่มาด้วยว่า อย่าบอกว่าเธอเป็น ส.จ. และหากพวกเขาถามอะไรเธอจะเป็นคนพูดเอง จากนั้นชายฉกรรจ์ราว 30-40 คนก็มาพบและนำตัวทั้งสองออกไป
“เขาเอาปืนสั้นจี้หัว ตอนแรกยืนอยู่ก็เตะขาข้างหลังให้นั่ง “พวกมึงไม่ต้องมายืนคุยกับพวกกู พวกมึงมันพวกคนชั่ว มึงรู้ไหมมาทำอะไร” เราก็บอกไม่รู้ เขาบอกจะพามาเที่ยวสนามราชมังคลา เราเห็นพวกเขาถือกล้องใหญ่เหมือนกล้องทีวีเลย ตอนนั้นคิดในใจว่า ถ้ามึงถ่ายกูก็จะเห็นภาพที่เอาปืนจี้หัวกู แล้วคำที่พูดกับกูนั่นมันโหดร้ายป่าเถื่อนขนาดไหน มันบอกว่า มึงต้องพูดว่ามึงถูกจ้างมาพันสอง เราก็บอกว่าป้าไม่ได้มาอะไรขนาดนั้น มันบอกไม่ได้ เราก็ว่าไม่ใช่ มันก็เลยทุบแขน เอาสันมีดทุบที่แขน เราก็แค้นเนอะ ร้องไห้ด้วย ในใจคิดว่าทำไมบ้านเมืองเราโหดร้ายป่าเถื่อนขนาดนี้ ทำไมไม่ยุติธรรมอย่างนี้ ชะตากรรมเราทำไมมันเป็นแบบนี้ ในใจคิดว่าเราพูดอะไรออกไปก็ได้ เอาปืนจี้หัวเราคนก็จะเห็น พวกนั้นเอาน้ำให้กิน ตอนแรกจะไม่กิน แต่มันบังคับก็ต้องกิน แล้วก็ถามว่า เรารู้จักประชาธิปไตยไหม รักในหลวงไหม ก็บอกว่า พวกเราคนไทยทุกคนต้องรักในหลวง พวกเราไม่เคยคิดว่าใครจะไม่รักในหลวง เราว่าอย่างนี้ ถ้าเราอธิบายเยอะ มันจะรู้ว่าพวกเรารู้เรื่องการเมือง เราก็บอกว่า ป้าก็เทิดทูนสถาบัน ทำไมอยู่ๆ ถึงเอาเรื่องในหลวงของเรามาพูด ในหลวงคือพ่อของแผ่นดิน มันถามว่ามึงจงรักภักดีใช่ไหม รัก เรารักในหลวง แล้วมันก็ถามว่า มึงรู้จักประชาธิปไตยไหม ก็บอกไม่รู้ เขาบอกจะพามาเที่ยวสนามราชมังคลา ไม่เคยมาก็เลยอยากมา ก็ได้ยินมันพูดกันว่า สงสัยเป็นชาวบ้านธรรมดา แล้วมันก็ถามหา ส.จ.-ส.ส. ที่มาด้วยกัน ก็เลยบอกว่า ไม่รู้เขาวิ่งไปทางไหนกันบ้าง ไม่เห็นเขา” 
นางกองแก้ว โพธิ์จันทร์ แสดงบาดแผลจากเหตุถูกทำร้ายเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.56 โดยระบุว่าถูกทำร้ายด้วยการถูกตีด้วยไม้กอล์ฟที่แขน (ภาพบน) และถูกทำร้ายด้วยระเบิดปิงปองจนเกิดบาดแผลที่ก้น (ภาพล่าง)

 
รอยแผลที่ก้นของนางกองแก้ว โพธิจันทร์ อายุ 50 ปี (ถ่ายเมื่อ 3 ธ.ค.56)


รอยแผลที่แขนนางกองแก้ว โพธิจันทร์ อายุ 50 ปี (ถ่ายเมื่อ 3 ธ.ค.56)
คำแสนเล่าว่า ทุกอย่างดูจะผ่านไปได้ ท่ามกลางหมู่ชายฉกรรจ์ เธอได้ยินบางคนห้ามปรามคนในกลุ่มไม่ให้ทำร้ายพวกเธอมากกว่านี้ และให้ปล่อยเธอทั้งสองคนไป เพราะเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา จนสุดท้ายทั้งหมดก็ยอมปล่อยพวกเธอ โดยพาไปขึ้นรถที่วินมอเตอร์ไซด์ที่ด้านหลังซอย
“เราก็ใจคอไม่ดี รองเท้าก็ไม่มี เหมือนคนสติไม่สมประกอบแล้ว มันบังคับให้ใส่เสื้ออื่น กระเป๋าเรามันก็ค้น อะไรเกี่ยวกับสีแดงมันทิ้งหมด เราก็ต่อรองว่าไม่ถอดเสื้อแล้วสวมทับได้ไหม ตอนนั้นเราใส่เสื้อสีขาวแต่มีรูปดาวแดงอยู่บนหน้าอก มันก็บอกว่าได้ แต่อย่าให้กูเห็นสีแดง”
“สีแดงมึงห้ามใส่ มึงกลับไปบอกชาวบ้านว่า ระบอบทักษิณไม่มีใครเอา” นั่นคือคำล่ำลาสุดท้ายที่พวกเขาบอกกับเธอ
หลังจากนั้นเธอก็ได้รับความช่วยเหลือจากมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่นำเธอไปส่งที่ สน.วังทองหลาง และอยากจะให้ค่ารถเธอกลับบ้านแต่เขาก็ไม่มีเงินเช่นกัน
“เราถึง สน. ก็ไม่ได้แจ้งความ ไม่รู้สึกเจ็บเนื้อเจ็บตัวอะไรเลย เพราะเป็นห่วงคนที่ติดอยู่ในนั้นมากกว่า อยู่โรงพักก็เอาแต่ร้องไห้ ตำรวจก็มาสอบถาม ตำรวจบอกว่าอยากช่วยแต่ช่วยไม่ได้ เพราะตำรวจเข้าไปไม่ได้ เขาเผารถตำรวจไปแล้ว”
จากนั้นเธอก็ติดต่อกับลูกสาวของเธอที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ลูกเธอมาพร้อมกับเพื่อนและเมื่อเห็นแม่ก็ได้แต่กอดคอกันร้องไห้ เธอเล่าว่า ลูกสาวพยายามตามหาแม่ตลอดเช้านั้น
“ลูกมาถึงก็กอดแม่ร้องไห้ บอก แม่ มันโหดร้ายจริงๆ แต่ก่อนลูกสาวแกไม่รู้ ถึงรู้ว่าพ่อแม่เป็นแดง แต่แกก็อยู่ครึ่งๆ กลางๆ แกไม่ยอมให้แม่เป็นเพื่อนเกี่ยวกับเฟซบุ๊กอะไรน่ะ แกบอกว่าอยู่กับกลุ่มเสื้อเหลืองก็ต้องไปตามเขา แต่ทีนี้เห็นแม่เจ็บตัว เพื่อนแกที่มาด้วยกันก็เป็นสลิ่ม มาเห็นสภาพแม่ คนแก่คนเฒ่า แกก็บอกว่านี่เหรอพวกก่อการร้าย เขาก็ร้องไห้กัน ทำไมต้องโหดร้ายขนาดนี้ ทีนี้ตอนขากลับแกไปโพสต์ด่าพวกสลิ่ม บอกนี่แหละรถที่แม่กูนั่งมา ที่บอกว่ามีอาวุธ หยุดเถอะ หยุดใส่ร้ายคนเสื้อแดง ทั้งที่แกไม่เคยพูดเลยก่อนหน้านี้ ลูกเคยถามตรงๆ ว่าแม่มาได้ตังค์ไหม แม่ก็บอกไม่ได้ ช่วยๆ กันออกค่ารถตู้มา ถ้าไม่พอก็พอจะขอพวกส.ส.ได้อยู่บ้าง”
สุดท้ายเธอก็ได้เดินทางกลับบ้านถึงบ้านจังหวัดอุดรราวตีสองตีสามของวันรุ่งขึ้น

ความเอื้ออารีของคนต่างสีเสื้อ
สำหรับผู้ใหญ่กองชัย สามีของเธอ เธอเล่าว่า เขาขาดการติดต่อกับเธอไปตลอดคืน และเธอคิดว่าเขาอาจจะไม่รอดแล้ว แต่ปรากฏว่าช่วงบ่ายแก่ของวันรุ่งขึ้น ผู้ใหญ่กองชัยติดต่อมาถึง ส.ส.ในจังหวัด แจ้งข่าวว่าเขาปลอดภัย เพราะ ส.ส.อุดรฯ ประสานกับตำรวจ ส.น.วังทองหลาง ให้เข้าไปช่วยรับคนที่ติดค้างตรงนั้นออกมา โดยผู้ใหญ่กองชัยไปรอที่หมอชิตก่อนหน้านั้นแล้ว ผู้ใหญ่เล่าว่ามีคนประมาณ 20 คนไปอยู่ที่บ้านหลังหนึ่งซึ่งเจ้าของเป็นคนจังหวัดกาฬสินธุ์ ช่วยให้เปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วออกมาทีละคนสองคน ขณะที่บ้านหลังที่ผู้ใหญ่กองชัยไปขอความช่วยเหลือตอนแรกเจ้าของบ้านดูจะปฏิเสธเพราะเกลียดเสื้อแดง แต่เมื่อเขาเห็นกลุ่มชายฉกรรจ์ทำกับเธอและป้า เจ้าของบ้านก็เปลี่ยนใจ
“เขาบอกว่าผู้ใหญ่ว่า “ผมไม่ชอบเสื้อแดง ผมเป็นเสื้อเหลือง บอกตรงๆ แต่ไม่ชอบการกระทำที่โหดร้ายแบบนั้น ผมไม่เอา ผมจะเอาคุณไว้ตรงนี้” พอดีเขาเป็นเจ้าของหอตรงนั้นแล้วเขาก็บอกผู้ใหญ่กองชัยว่ากลุ่มนั้นปล่อยผู้หญิงสองคนไปแล้ว แล้วก็ให้ผู้ใหญ่กองชัยเปลี่ยนเสื้อ แล้วก็ขับรถไปส่งผู้ใหญ่ แล้วยังให้เงินอีก 500 บาทค่ารถ เดี๋ยวนี้ก็ยังโทรขอบคุณกันอยู่ เขาบอกว่าสงสาร คนแก่ๆ ยังทำกันได้”
นี่อาจเป็นบทสรุปที่ช่วยให้ใจชื้นขึ้นได้บ้าง ท้ายที่สุดเราถามถึงสภาพจิตใจของคำแสนหลังเผชิญเหตุการณ์ความรุนแรงนี้ รวมถึงสอบถามว่าเห็นคลิปที่เผยแพร่แล้วหรือไม่ เธอตอบว่า
“สภาพจิตใจตอนนั้นแย่มาก ไม่รู้สึกเจ็บตัวแต่เจ็บใจ ทำไมบ้านเมืองเรามันป่าเถื่อนอย่างนี้ เมืองไทยเหรอเนี่ย เราพูดไปเราก็ร้องไห้ไป หลังเหตุการณ์มีคนโทรมา คนก็ถามว่าทำไมโทรมาแล้วไม่รับ ไม่มีจิตใจจะรับจะพูดกับใครเลย ตัวเราช้ำไปหมดแต่เราไม่รู้สึกเจ็บตัวเลย ด้านหลังเราโดนของแข็งกระแทกก็ไม่รู้ว่าอะไร ทำไมมันป่าเถื่อนแบบนี้ ตำรวจก็ทำอะไรเขาไม่ได้ ถ้าเป็นเสื้อแดงทำแบบนี้เขาจับตั้งแต่วินาทีนั้นแล้ว เมืองไทยสยามเมืองยิ้มเหรอ มันไม่น่าอยู่แล้วล่ะตอนนี้ คิดไปก็ร้องไห้ไป”
“เห็นคลิปวิดีโอแล้ว ทำไมมันไม่มีตรงที่ทำกับเรา ไม่มีตรงที่พูดกับเราแบบจะฆ่า ไม่มีภาพเอาปืนจี้หัวเรา ก็ยังงงอยูว่าทำไมมันไม่มี ยังคิดอยู่ตลอด ไม่อยากพูดเรื่องนี้แล้ว พูดแล้วมันสะเทือนใจ มันแค้น คนที่รู้จักเขาเข้าใจ แต่คนไม่รู้จักเราเขาไม่เข้าใจ มีคนพูดให้ฟังว่ามีคนเสื้อแดงว่าให้ เราก็บอกว่าช่างเถอะเขาไม่รู้ว่าตอนนั้นเราถูกบังคับ เราต้องรักษาชีวิตของพี่น้องเราไว้ เราเอาคนไป เราต้องรับผิดชอบอีกหลายชีวิต และเรารู้ว่าอะไรคือเรื่องจริง”
สำหรับรถตู้ทั้ง 2 คันนั้น จากการโทรสอบถามวิโรจน์ ลาบคำนูน เจ้าของรถตู้ซึ่งซื้อดาวน์รถดังกล่าวจากชาวบ้านในพื้นที่มาผ่อนต่อ พบว่า หลังจากหลบหนีออกจากพื้นที่ได้ ก็เห็นข่าวรายงานว่ารถของเขาซึ่งจอดทิ้งในซอย 53 ตั้งแต่ช่วงสายของวันที่ 1 ธ.ค. กลางดึกของวันดังกล่าว รถตู้ทั้งสองคันก็ถูกเข็นออกมาเผาที่หน้าปากซอย 53 (อ่านข่าว)

เสียงจากลูกสาวนักศึกษารามฯ “ทำไมทำกันขนาดนี้”

ปอ คือชื่อเล่นของลูกสาวคำแสน เธอเพิ่งเรียนจบคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงหมาดๆ จากที่ไม่เคยสนใจการเมืองมากนักและไม่เคยแสดงจุดยืนใดๆ ทางการเมือง แต่เหตุการณ์ที่เกิดกับแม่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป
“บรรยากาศภายในรามก่อนจะเกิดเหตุการณ์ ส่วนตัวหนูไม่ได้จะเข้าข้างฝ่ายไหน หนูว่ามันวุ่นวาย ไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมือง เวลากลับบ้านก็เป็นบรรยากาศนึง แม่ก็จะสีนี้นะ มาเรียนก็จะเป็นอีกบรรยากาศหนึ่ง เพื่อนๆ ก็ชอบว่าเสื้อแดงอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่หนูไม่พอใจก็คือที่เขาว่า คนอีสานโง่ เสื้อแดงโง่ ไม่มีการศึกษา หนูจะรู้สึกเสียใจตลอดแต่พูดอะไรไม่ได้ ก็หลีกเลี่ยง ไม่อยากมีปัญหากับเพื่อน แต่เคยถามแม่ตลอดว่าทำไมถึงชอบ แม่ให้เหตุผลมาก็ฟัง เวลาแม่มาชุมนุม หนูก็ไปหาแม่ตลอด หนูก็เห็นบรรยากาศตลอดว่าเป็นยังไง ก็รู้สึกว่าไม่มีพิษภัยอะไร”
“จนวันที่เกิดเหตุ หนูไปหาแม่ที่ราชมังฯ เพื่อนหนูบอกว่าเขาจ้างมา ยึดบัตรประชาชน แต่หนูเห็นตลอด แม่มาชุมนุมไม่เคยโดนยึดบัตรประชาชน หนูไปก็ไม่เคยโดนยึด หนูก็เถียงว่าเขาไม่เคยยึดนะ เพื่อนก็หาว่าหนูเข้าข้างแม่ เพื่อนก็รู้ว่าแม่เราเสื้อแดง จะพูดกระแนะกระแหนหนูตลอด แต่หนูก็ไม่เคยโต้ตอบ”
“ในโซเชียล (social media) ของดาราก็โพสต์ว่า เวทีของคุณสุเทพมีธงชาติและรูปในหลวง เวทีเสื้อแดงมีธงสีแดงและรูปฮุนเซน หนูก็บอกว่า เอ๊ะ ทำไมไม่เห็น เลยถามแม่ว่ามีรูปฮุนเซนกับทักษิณไหม แม่ก็บอกไม่มี หนูก็ไม่เห็น ก็ไม่พอใจมากว่าเอามาจากไหน โจมตีกันโดยที่ชาวบ้านเขาไม่รู้เรื่อง เพราะเขาเปิดโซเชียลไม่เป็น แล้วก็ยังโจมตีว่ามีอาวุธสงคราม ในรูปที่รถอุดรฯ โดนทุบ มันคือรถตู้ที่แม่หนูนั่งมา เขาบอกว่ามีอาวุธสงคราม คนที่แชร์ก็คือเพื่อนสนิทที่หนูรู้จัก หนูเลยโพสต์ว่า รถคันนี้แม่ฉันนั่งมาเอง ไม่มีอาวุธสงครามอะไรทั้งสิ้น หยุดใส่ร้ายป้ายสีกัน ตอนนี้หนูรู้แจ้งเห็นจริงแล้วว่าอะไรคืออะไร เพื่อนๆ ส่วนมากก็มาให้กำลังใจ ส่วนคนไม่พอใจก็ไม่มาอะไร หนูก็ไม่แคร์แล้วว่าใครจะเลิกคบหนู หนูแคร์แม่หนูมากกว่า แล้วหนูก็เอาคลิปแม่ไปลงด้วย หนูไม่อาย หนูรู้สึกว่าทำกับแม่หนูขนาดนี้ หนูก็ไม่อาย ไม่ไว้หน้าใครแล้ว”

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar