fredag 7 oktober 2016

ขบวนนักศึกษา 6 ตุลา กับ ประชาธิปไตย: ปัญหาการจัดงานรำลึกอดีตจากจุดยืนปัจจุบัน

 
Somsak Jeamteerasakul
ขบวนนักศึกษา 6 ตุลา กับ ประชาธิปไตย: ปัญหาการจัดงานรำลึกอดีตจากจุดยืนปัจจุบัน 
ขบวนนักศึกษา 6 ตุลา กับ ประชาธิปไตย: ปัญหาการจัดงานรำลึกอดีตจากจุดยืนปัจจุบัน
อันที่จริง ผมตั้งใจจะโพสต์กระทู้เรื่อง การจัดงานรำลึก 6 ตุลากับการเผชิญหน้ากับความจริง ต่อให้จบ (แหะๆ ที่เขียนไป 2 กระทู้ยังไม่จบ)
ก็พอดีเมื่อคืน เจอโพสต์ของ "มิตรสหายท่านนี้" ซึ่งเรสประเด็นน่าสนใจ และเกี่ยวกับที่ผมจะเขียนอยู่ จึงขอแค็พมาอภิปรายก่อน
มีบางประเด็นที่เขาเขียนที่ไม่ตรงนัก คือนักศึกษาไม่ได้เป็น "คอมมิวนิสต์" เมื่อเข้าป่าหลัง 6 ตุลา แต่ยิ่งกว่านั้นอีก คือขบวนการนักศึกษาในความเป็นจริง เป็นขบวนการเมืองคอมมิวนิสต์ (อยู่ภายใต้การนำทางความคิด การเมืองและจัดตั้งของ พคท) ตั้งแต่ก่อนเข้าป่าแล้ว คือตอนเกิด 6 ตุลาก็เป็นแล้ว
"เป็นคอมมิวนิสต์แล้วไง" ธงชัยพูดเมื่อวานแบบนี้ (ตอนจัดงาน 20 ปีเขาก็พูดทำนองนี้)
แน่นอน อย่างที่ผมเขียนไปว่า การ"ท้าทาย"อย่างหนึ่งของการที่เรายอมรับความจริงข้อนี้ กับประเด็นการฆ่าหมู่เมื่อ 6 ตุลา คือการยืนยันว่า ถึงแม้จะเป็นขบวนคอมมิวนิสต์ การฆ่าหมู่แบบนั้นก็ยังผิด (ขอให้สังเกตว่า "มิตรสหายท่านนี้" ในโพสต์ก็ไม่ได้พูดว่า ในเมื่อเป็นคอมฯแล้ว การฆ่าชอบธรรมหรืออะไรแบบนั้น)
แต่นัยยะของความจริงที่ว่า ขบวนนักศึกษาเป็นขบวนคอมมิวนิสต์ มีมากกว่าเรื่องการฆ่าหมู่ - มากกว่าที่การพูดของธงชัยข้างต้น หรือคนจัดงานที่ผ่านมาจะกล้ายอมรับหรือเผชิญกับมันอย่างจริงๆ
และอันนี้ก็มาถึงคำถามที่ผมว่าน่าสนใจมาก ใน 2 ประโยคสุดท้ายของโพสต์ที่ผมแค็พมา คือ คอมมิวนิสต์ก็เป็นเผด็จการเหมือนกัน (เหมือนทหารไทยหรือไม่ ใจผมยังคิดว่า มีความแตกต่างกันอยู่ แต่จะข้ามไป เพราะไม่ใช่ประเด็นสำคัญในที่นี้) และ ที่แน่ๆคือ เป้าหมายของ พคท และของขบวนการนักศึกษาในตอนนั้น #ไม่ใช่ประชาธิปไตยหรือสิทธิ์เสรีภาพอย่างที่เราเข้าใจหรือยอมรับกันในขณะนี้แน่นอน
"เป็นคอมมิวนิสต์แล้วไง" จึงมีนัยยะที่ไม่สามารถตอบได้ด้วยเพียงการย้อนถาม เอาตัวอย่างง่ายๆเลยนะ ประเด็นเรื่อง "rule of law" ที่ธงพูดไปบ้างเมื่อวาน และจะพูดละเอียดอีกทีพรุ่งนี้ เป้าหมายทางการเมืองของขบวนขณะนั้น ไม่ใช่ rule of law ในความหมายที่ธงหรือคนจัดงานหรือพวกเราในขณะนี้เข้าใจกันแน่ๆ (และไม่ใช่ "ประชาธิปไตย" ที่เรายืนอยู่ในปัจจุบันแน่ๆ) อันที่จริง ถ้าเอาเป้าหมายทางการเมืองของขบวนในขณะนั้น มาพูดในปัจจุบัน เราควรต้องคัดค้านอย่างแข็งขันแน่ๆ
เรื่องนี้เรสปัญหาที่ยากหลายอย่าง ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาการจัดงานรำลึกหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับมัน (รวมถึงกรณีธงชัยด้วย พอดีปีนี้เขาเลือกพูดตีม rule of law ซึ่งผมว่า ควรจะทำให้ยิ่งต้องลองเผชิญกับประเด็นนี้)
เอาตัวอย่างง่ายๆว่าเรื่องนี้มีนัยยะอย่างไร เมื่อวานมีกรณีหงา คาราวาน ซึ่งทั้งประชาชนที่ไปร่วมงานและมิตรสหายหลายคนทางเฟซบุ๊คแสดงความรังเกียจ ผมก็ว่าสิ่งที่เขาเป็นตอนนี้เป็นอะไรที่น่ารังเกียจนะ (แม้ผมจะยังชอบเพลงของเขามากๆ ดังที่จะอธิบายข้างล่าง)
แต่ถ้าเราเอาจุดยืนปัจจุบันของเราเรื่องประชาธิปไตย ฯลฯ ที่ทำให้เรารังเกียจหงาในขณะนี้ ไปประเมินจุดยืนและเป้าหมายทางการเมืองของขบวนนักศึกษา-พคท ในขณะนั้น #อย่างหลังความจริงก็เป็นอะไรที่ควรคัดค้านมากเช่นกัน
โปรดสังเกตว่า ผมใช้คำว่า "เป้าหมายทางการเมือง" (ซึ่งเป็นเผด็จการอย่างหนึ่งดังกระทู้ที่ผมแค็พมาพูดไว้จริง) ผมไม่ได้พูดถึงในแง่ "ความเป็นขบวนที่มีอุดมคติ" ฯลฯ อะไรทำนองนั้น
และผมจงใจเลี่ยงจะใช้ "น่ารังเกียจเช่นกัน" (เหมือนกับที่ใช้กับหงาตอนนี้) ... อันนี้เป็นอะไรที่ในแง่ส่วนตัว ผมไม่สามารถพูดได้ ไม่ใช่เพราะว่ายังเห็นด้วยกับเป้าหมายการเมืองของสมัยนั้น แต่ผมยัง "อิน" #ในเชิงอารมณ์ความรู้สึก กับมันอย่างลึกมากๆ (ที่ผมพาดพิงถึงเพลงหงาข้างต้นก็เป็นส่วนหนึ่งของการยัง "อิน" ที่ว่า ทุกวันนี้ ผมยังร้องไห้กับเพลงพวกนั้น ร้องไห้กับการนึกถึงการต่อสู้ของพวกเราทั้งในเมืองและในป่าสมัยนั้น)
แต่อารมณ์ความรู้สึกแบบ"อิน"แบบนี้ กับปัญหาการเข้าใจความจริง หรือเรื่องจุดยืนการเมืองปัจจุบัน เป็นอะไรที่ผมมีเหตุผลพอจะเข้าใจว่า มันแทนกันไม่ได้
คือถ้าพูดกันตามเหตุผล จุดยืนการเมืองของหงาปัจจุบัน (ไม่เอา ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ หรือ rule of law อะไรก็ว่าไป) ที่เรารังเกียจกันนั้น ถ้ายอมรับความจริงกันจริงๆ ก็จะเห็นว่า โดยบรรทัดฐานปัจจุบันที่ทำให้เรารังเกียจจุดยืนหงาขณะนี้ จุดยืนและเป้าหมายทางการเมืองของขบวนนักศึกษา-พคท ในขณะนั้น ก็เป็นอะไรที่เราต้องไม่เห็นด้วยอย่างมากเช่นกัน*
ที่ผมมีปัญหากับการจัดงานรำลึก 6 ตุลามาโดยตลอดคือ ผมรู้สึกว่า พวกเราน่าจะ "โต" มากพอที่ควรจะ #ไม่หลีกเลี่ยงความจริงและนัยยะของความจริงที่มันยากๆเช่นนี้ ซึ่งการจัดงานที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้หลีกเลี่ยงโดยตลอด
...............
* ผมตระหนักดีถึงความซับซ้อนกรณีหงา คือเอาเข้าจริง ไม่ใช่เพียงเพราะเราอาศัยจุดยืนปัจจุบันไปรังเกียจหงา แต่ต่อให้ใช้จุดยืนในอดีตแบบ พคท สิ่งที่หงาทำในหลายปีมานี้ ก็น่ารังเกียจเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง - ถ้าใช้ภาษาซ้ายสมัยก่อน - การไปร่วมเวทีเชียร์ "ศักดินา" (แต่การรังเกียจหงาของแอ๊คติวิสต์และประชาชนส่วนใหญ่ตอนนี้ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวน พคท สมัยนั้น ก็คงไม่ใช่จากจุดยืนในอดีตแบบ พคท)

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar