måndag 4 juli 2016

Somsak Jeamteerasakul....เกร็ดประวัติศาสตร์: กรณี "ประหลาด" มรว.ทองน้อย ทองใหญ่ ถูก(กองกิจการฯ)พระบรมฯ "ด่า" (ตุลาคม 2549)

Somsak Jeamteerasakul 
คลิกดูภาพ 2 new photos. 
เกร็ดประวัติศาสตร์: กรณี "ประหลาด" มรว.ทองน้อย ทองใหญ่ ถูก(กองกิจการฯ)พระบรมฯ "ด่า" (ตุลาคม 2549)
เดิมผมคิดจะเขียนกระทู้เกี่ยวกับว่า หลังในหลวงสวรรคตและพระบรมขึ้นเป็นกษัตริย์แล้ว สถานการณ์จะเป็นอย่างไร ผมก็เลยลองเอาคลิปการสัมมนาที่เมืองบอนน์ เมื่อเร็วๆนี้ มาดูอีกครั้ง (ผมดูไปตอนถ่ายทอดสด)
ในการนำเสนอของ ดร.แซร์หัตถ์ อือนัลดี นักวิชาการอิสระชาวเยอรมัน ในหัวข้อ "อวสานของราชบัลลังก์อย่างที่เรารู้จักกัน: รัชสมัยของในหลวงวชิราลงกรณ์จะมีหน้าตาอย่างไร" (The end of the throne as we know it: scenario of King Vajiralongkorn's reign) มีตอนหนึ่ง ดร.แซร์หัตถ์ เสนอว่า พระบรมฯจะต่างจากในหลวงในแง่ที่ว่า พระบรมฯมีประวัติของการเข้าแทรกแซงเล่นงานคนที่ "อ้างชื่อ" พระองค์ คือไม่ยอมปล่อยๆไปเหมือนกรณีในหลวง (ประเด็นว่าในหลวงเป็นอย่างไรในเรื่องนี้ และควรจะเปรียบเทียบกับกรณีพระบรมฯอย่างไร ผมยังไม่ถึงกับเห็นด้วยกับนัยยะต่างๆที่ ดร.แซร์หัตถ์เสนอทั้งหมด - เห็นด้วยในแง่มีความแตกต่างในแง่ "สไตล์" บางอย่างของพระบรมฯจริง - แต่ผมคิดว่า มันมีปริบทความซับซ้อนมากกว่านั้น แต่เรื่องนี้ขอผ่านไปในที่นี้)
ดร.แซร์หัตถ์ก็ยกตัวอย่างประวัติการที่พระบรมฯเล่นงานใครต่อใคร ซึ่งก็มีกรณีที่เรารู้จักกันดี เรื่องกวาดล้างครอบครัวศรีรัศมิ์ กับกวาดล้างเครือข่ายหมอหยอง
แต่มีกรณีหนึ่งที่ ดร.แซร์หัตถ์ยกขึ้นมา บอกว่าเกิดเมื่อปี 2549 ซึ่งผมจำไม่ได้ ไม่แน่ใจว่า ผมเคยผ่านตาตอนนั้นแล้วลืม หรือว่า ไม่เคยผ่านตาเลยตั้งแต่ตอนนั้น
ผมเลยลองค้นดู ก็พบอะไรที่ผมว่าน่าสนใจ เรียกว่าพอเป็น "เกร็ดประวัติศาสตร์" ที่มาเล่ากันได้ สำหรับคนที่อาจจะเหมือนผมคือ จำกรณีนี้ไม่ได้ หรืออาจจะไม่เคยผ่านตา (หลายคนที่เพิ่งมาสนใจการเมืองในไม่กี่ปีหลังนี้ อาจจะไม่เคยผ่านตาหรือสนใจมาเลยก็ได้ตอนที่เกิดขึ้น)
เรื่องของเรื่องคืออย่างนี้ครับ ทุกคนคงจำได้ว่า ต้นปี 2549 ครอบครัวทักษิณขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก ซึ่งนำไปสู่วิกฤติประท้วงพันธมิตร และในทีสุด ก็เกิดรัฐประหาร 19 กันยา
ปรากฏว่าหลังรัฐประหารประมาณเดือนหนึ่ง (ตุลาคม 2549) ก็มีข่าวบริษัทเทมาเส็กจะตั้งสำนักงานในไทย โดยมีรายชื่อผู้บริหารของสำนักงานว่ามีใครบ้าง และในนั้นก็มีชื่อ "ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่" ว่าจะเป็น "ที่ปรึกษาฝ่ายองค์กร" ของสำนักงานที่ว่าด้วย
ตามข่าว มีการระบุประวัติของ ม.ร.ว.ทองน้อย ว่าเป็น "ราชเลขานุการ และที่ปรึกษาส่วนพระองค์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตลอดจนทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปี 2543"
วันที่ 28 ตุลาคม 2549 "กองกิจการในพระองค์ สมเด็จพระบรมฯ" ได้ออกแถลงการณ์มาฉบับหนึ่ง ปฏิเสธว่า มรว.ทองน้อย ไม่ได้มีตำแหน่งอย่างที่มีการออกข่าวมา
แถลงการณ์อยู่ที่นี่ http://goo.gl/tzT76U หรือดูภาพประกอบที่ผมแค็พมา (สำหรับแบ๊คกราวน์กรณีนี้ ที่กว้างออกไป ดู https://goo.gl/iQGEHR)
ตอนผมอ่านตัวแถลงการณ์เมื่อไม่กี่วันก่อน (อย่างที่บอกว่าผมไม่แน่ใจตัวเองเคยอ่านเมื่อออกมา 10 ปีก่อนหรือเปล่า) ผมก็ "โห แรงมาก"
คือแถลงการณ์ไม่เพียงกล่าววว่า
"...การนำเสนอข่าวดังกล่าวก่อให้เกิดความเข้าใจที่สับสนคลาดเคลื่อน ผิดจากความเป็นจริง เป็นการกล่าวอ้างตำแหน่งหน้าที่ซึ่งไม่ถูกต้อง และใช้เป็นช่องทางสร้างอิทธิพลทางธุรกิจ เพื่อผลประโยชน์แก่ตนเอง ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียไม่เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น หากแต่ยังสร้างความไม่มั่นคง ไม่น่าเชื่อถือในการลงทุนระหว่างประเทศอีกด้วย..."
ที่สำคัญ และสะดุดใจมากๆคือ แถลงการณ์ยัง "ด่า" ตัว มรว.ทองน้อย โดยตรงด้วย และใช้ข้อความที่แรงมาก (ลองอ่านดูนะครับ ผมทำตัวหนาบางตอนให้ แต่จริงๆ เรียกว่า แรงมากทั้งหมด)
"เพราะความจริงแล้ว หม่อมราชวงศ์ทองน้อย ทองใหญ่ ‪#‎เป็นบุคลลที่มีคุณสมบัติและความประพฤติส่วนตนที่ไม่เหมาะสม‬ ไม่ได้รับการพิจารณาต่ออายุราชการเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองราชเลขาธิการ จึงขอรับพระเมตตาสมัครเข้าทำงานในกองกิจการในพระองค์ ซึ่งก็ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณจ้างไว้เป็นลูกจ้างท้ายที่นั่ง กองกิจการ ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามความชำนาญของตน คือ งานแปล และร่างเอกสารภาษาอังกฤษ ตลอดจนโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทำงานหนังสือบ้างเป็นครั้งคราว ‪#‎แต่ด้วยความเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยส่วนตัวที่มีเล่ห์เหลี่ยม‬ ชอบกล่าวอ้างพระบารมีคุ้มเกล้าในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เป็นนิจ และดำเนินการต่างๆ อย่างมีเลศนัยไม่โปร่งใส จึงเป็นที่ไม่พอใจของผู้ที่ได้ร่วมงานในทุกระดับ
‪#‎ทั้งยังกระทำการโดยมิได้มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงชุบเลี้ยง‬ และพระราชทานโอกาสให้พิสูจน์ตัวเอง กลับฉวยโอกาสแอบอ้างเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตน โดยการอุปโลกน์ตำแหน่งให้ตนเองจนได้รับการทาบทามให้เข้าเป็นที่ปรึกษาบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้ง ดังที่มีการนำเสนอข่าว ‪#‎ถือว่าเป็นการอกตัญญู‬ ‪#‎มิได้รู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ‬ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบัน และประเทศชาติ"
.....................
ใครที่ตามอ่านข่าวการปลด ไล่ออก ถอดยศ คนใกล้ชิดพระบรมฯในช่วงปีเศษที่ผ่านมา ซึ่งผมเคยโพสต์ไป อาจจะพอจำได้ว่า ผมเคยตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็น "สไตล์" พระบรมฯ คือถ้าเป็นเจ้าวังอื่น ถ้าลูกน้องบางคนมีปัญหา และต้องการลงโทษ ก็คงทำแบบเงียบๆ เรียบๆ เช่น ออกหนังสือราชการโยกย้ายตำแหน่ง หรือให้ออกจากราชการแบบเรียบๆธรรมดาๆ อาจจะอ้างข้อกฎหมายบางอันแบบเป็นทางการนิดหน่อยตามหนังสือราชการทั่วไป แต่กรณีพระบรมฯนี่ มักจะต้องมีลักษณะ (ถ้าใช้คำบ้านๆ) "จัดหนัก" หรือ "ด่า" คนนั้นไปด้วย ในลักษณะที่บ่อยครั้ง ก็อยู่นอกเหนือจากตัวระเบียบราชการ (เช่นเรื่อง "ทำผิดราชสวัสดิ์" อะไร ไม่มีในกฎหมายหรอก)
จะเห็นว่า ในแถลงการณ์ปี 2549 กรณี มรว.ทองย้อย นี้ มี "สไตล์" เหมือนๆกับคำสั่งปลด-ถอดยศที่เราเห็นในปีเศษที่ผ่านมามาก
อันที่จริง อาจจะบอกว่า มรว.ทองน้อย "โชคดี" คือด้วยภาษา "ด่า" ที่แรงขนาดนี้ ถ้าเป็นสมัยหลัง คงโดนถึงขั้น 112 ไปแล้ว (แต่เมื่อ 10 ปีก่อน การใช้ 112 ยังไม่เกร่อ มั่วซั่วแบบปีหลังๆ)
ดูเหมือนผมจะเคยพูดไปแล้วด้วยว่า "สไตล์" แบบนี้ เป็น "ดาบสองคม" (ซึ่งถ้าเป็นเจ้าวังอื่นๆ คงไม่ทำ คือคงหาทางทำแบบเงียบๆเรียบๆกว่านี้) เพราะมายาภาพเรื่องเจ้าไทย จะต้องพยายามรักษาภาพลักษณ์ที่ dignified ("มีเกียรติ สูงส่ง") การออกข่าวหรือแถลงการณ์เล่นงานคน มันเสี่ยงทำให้ภาพลักษณ์ของเจ้าเองเสียไปด้วย (ถ้าจะเปรียบเทียบคือประมาณว่าบางคนที่ถือกันว่าเป็น "ผู้ดี" ไม่ควรใช้ภาษาไม่สุภาพ หรือไม่ควรมาทะเลาะกับคน ให้สาธารณะเห็น อะไรแบบนั้น)
แต่กรณีพระบรมฯ ต้องเรียกว่า ทรง "คงเส้นคงวา" มาก ใน "สไตล์" การจัดการคนที่มีเรื่องอะไรไม่ถูกพระทัย คือถ้าดูจากแถลงการณ์ 10 ปีที่แล้ว จะเห็นว่า ไม่ใช่เพิ่งมาเป็น ในการกวาดล้างช่วงปีเศษที่เห็น
อันที่จริง ย้อนหลังขึ้นไปอีก 10 ปีก่อนแถลงการณ์กรณี มรว.ทองย้อย (คือราว 20 ปีนับจากตอนนี้) ตอนที่ทรงไล่ยุวธิดาออกจากวัง (2539) ก็ใช้ "สไตล์" แบบนี้แหละ คือแทนที่จะหาทางจัดการแบบเงียบๆ ก็จะต้องประกาศต่อสาธารณะในลักษณะ "แรง" ถึง "ความผิด" ของคนเหล่านั้น
ผมเอาภาพประกอบมาให้ดู สำหรับใครที่อาจจะยังไม่เคยเห็น คือภาพแผ่นใบปลิวโป๊สเตอร์ ที่พระบรมฯทรงให้ลูกน้องทำขึ้นและติดไว้รั้วหน้าวังนนทบุรี และนำมาแจกนักข่าวที่หน้าวังด้วย จะเห็นว่า "สไตล์" ที่ผมพูดถึง "คงเส้นคงวา" มาก ตั้งแต่สมัยนั้น มาจนสมัยนี้ (ซึ่งประเด็นข้อเสนอของ ดร.แซร์หัตถ์ ก็คือว่า ถ้าทรงขึ้นเป็นกษัตริย์ ก็จะยังรักษา "สไตล์" แบบนี้ และจะนำปัญหามาสู่รัชสมัยของพระองค์)

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar